KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

[กศจ.] ที่มา กศจ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด บอร์ด กศจ. คืออะไร อำนาจหน้าที่ กศจ. มีอะไรบ้าง

kor-sor-jorคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เกิดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อที่ 6 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ในแต่ละจังหวัด ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “กศจ.” ประกอบด้วย

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(2) ศึกษาธิการภาคในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นรองประธานกรรมการ
(3) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและผู้แทนสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกรรมการ
(4) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด และวัฒนธรรมจังหวัดเป็นกรรมการ
(5) ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จํานวนสองคนเป็นกรรมการ
(6) ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จํานวนสองคนเป็นกรรมการ
(7) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบริหารงานบุคคล หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จํานวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
(8) ศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ

จะเห็นว่าในข้อ (5), (6), (7) รวมจำนวน 7 คน ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งมีแนวทางการได้มา ดังนี้ 

– ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นข้าราชการและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่
– ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่นจังหวัดละ 2 คน จะไม่ให้มาจากการเลือกตั้งเด็ดขาด แต่จะเปิดให้มีการเสนอชื่อหรือสมัครใจ โดยเปิดกว้างให้กับข้าราชการครูในท้องถิ่นทุกสังกัด
– ผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 3 คน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ประธาน กศจ.เป็นผู้เสนอรายชื่อ

อำนาจหน้าที่ กศจ.  ให้ กศจ. มีอํานาจหน้าที่ในแต่ละเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) กําหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษา และการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ประสานและส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายในจังหวัด
(2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด
(3) พิจารณาและให้ความเห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานและตัวชี้วัดในการดําเนินงานในลักษณะตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการหรือหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด
(4) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเพื่อใช้อํานาจตามข้อ ๒ (๔)
(5) กํากับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด
(6) วางแผนการจัดการศึกษาในจังหวัดและพิจารณาเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษา
(7) เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทํางานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ กศจ. ได้ตามความจําเป็น
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกําหนด หรือตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคมอบหมาย

รวมถึงอำนาจที่โอนมาจาก ข้อ 4 และ 5  ได้แก่
ข้อ 4 ….. อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ …..
ข้อ 5 ….. อํานาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา …

ขอบคุณภาพประกอบจาก : เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม

Exit mobile version