KruSmart : ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ : ร่วมกันก้าวหน้า ทำการศึกษาคุณภาพ

การสอนแบบเปรียบเทียบโดยใช้รูปแบบ FAR GUIDE [Analogy Approach]

การสอนด้วยวิธีการสอนแบบเปรียบเทียบ (analogy) เป็นวิธีการสอนโดยการใช้สิ่งต่างๆ ที่ง่าย บุคคลคุ้นเคย มีความเป็นรูปธรรมมาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจมโนมติที่มีความเป็นนามธรรม ยากในการทำความเข้าใจ โดยมีนักวิทยาศาสตร์ศึกษา กล่าวถึงการเปรียบเทียบไว้หลายท่าน ที่จะนำมากล่าวในที่นี้คือ Glynn, S.M (2008) กล่าวว่าการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบ(analogy) คือ การเปรียบเทียบระหว่างความเหมือนของสองมโนมติ มโนมติที่คุ้นเคย เรียกว่า Analog และมโนมติที่ไม่คุ้นเคย เรียกว่า target ซึ่งทั้งสองมโนมติ มีการใช้คุณลักษณะต่างๆ ร่วมกันระหว่าง analog และ target และต้องสามารถบอกความต่างระหว่าง analog กับ target ได้

Duit (1991) บอกชนิดของการเปรียบเทียบตามความสัมพันธ์ระหว่างตัวที่ใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่กล่าวถึง ได้ 4 ชนิด ได้แก่
          1. ใช้รูปภาพประกอบการอธิบาย (pictorial/verbal) เพื่อถ่ายทอดความคิดหรือเป็นตัวแทนของมโนมติที่มีความเป็นนามธรรม  เช่น กราฟ ไดอะแกรม หรือรูปภาพ
          2. โดยใช้ตัวบุคคล (personal analogies) เป็นการเปรียบเทียบมโนมติทางวิทยาศาสตร์กับอวัยวะส่วนต่างๆในร่างกายมนุษย์
          3. ใช้สิ่งเปรียบเทียบที่หลากหลาย (Multiple Analogies) เป็นการอธิบายมโนมติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ใช้หลายๆ analog ช่วยในการอธิบาย เช่น การเปรียบเทียบเรื่องภาวะเรือนกระจก โดยสวนที่อยู่ในกระจกใช้เปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น ใช้เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในร่างกายที่เกิดจากการใส่เสื้อหลายชั้นซึ่งดูเหมือนจะทำให้เข้าใจได้ดีกว่า
          4. Bridging Analogies เป็นการเปรียบเทียบที่เชื่อมโยงจากมโนมติหนึ่งไปยังอีกมโนมติหนึ่ง เพื่อลดช่องว่างระหว่าง analog และ target ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน นักเรียนทำความเข้าใจยาก โดยใช้การเปรียบเทียบทีละขั้นตอน

วิธีการสอนแบบเปรียบเทียบ มีนักการศึกษาได้กล่าวไว้หลายรูปแบบแต่รูปแบบ Focus-Action-Reflection (FAR) Guide เป็นวิธีการเปรียบให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้

        1. ขั้น Focus ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
             1.1 Concept :: ครูวิเคราะห์และคัดเลือกมโนมติที่เข้าใจยาก ไม่คุ้นเคย หรือเป็นนามธรรม
             1.2 Student :: ครูวิเคราะห์พื้นฐานความรู้เดิมของนักเรียนเกี่ยวกับ มโนมติที่ศึกษาเป็นอย่างไร และนักเรียนคุ้นเคยกับมโนมติ ใดบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยใช้แบบสำรวจ
             1.3 Analog ::  ครูวิเคราะห์เลือกสิ่งที่จะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบ ต้อง เป็นสิ่งที่คล้ายกับมโนมติที่จะสอนและนักเรียนมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี

         2. ขั้น Action ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
              2.1 Like :: ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อหาความเหมือนระหว่างตัวเปรียบเทียบ (analog) กับมโนมติที่ศึกษา(Target)
              2.2 Unlike :: ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อหาความแตกต่างระหว่าง ตัวเปรียบเทียบ (analog) กับมโนมติที่ศึกษา(Target)

          ในขั้นนี้ครูต้องช่วยให้นักเรียนสามารถสรุปความเหมือนและความแตกต่างให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดมโนมติที่คลาดเคลื่อน (misconception) ไปจากมโนมติวิทยาศาสตร์ (Scientific conception)

        3. ขั้น Reflection ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
            3.1 Conclusion :: ครูวิเคราะห์และสรุปผลจากการเรียนรู้โดยใช้ตัวเปรียบเทียบ(analog) ว่าทำให้นักเรียนเรียนรู้หรือนักเรียนสับสน
            3.2 Improvement  :: ครูจะต้องปรับปรุง แก้ไขหรือมีการเพิ่มวิธีการอื่นๆ ในการสอนเรื่องนี้หรือไม่ และพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้สิ่งที่ใช้ (analog) ในครั้งต่อไป

การสอนแบบเปรียบเทียบ ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ช่วยให้สามารถจดจำได้ดี แต่อาจทำให้เกิดมโนมติคลาดเคลื่อนและเกิดความสับสนมากขึ้นได้ ผู้นำไปใช้ควรเลือก analog ให้ง่ายต่อความเข้าใจ

แหล่งข้อมูลและผลงานวิจัยของผู้เขียนบทความนี้ : Somrutai Sangkakram. 2010. Grade 10 students’ mental models of chemical bonding using analogy teaching approach: Focus-Action-Reflection (FAR) guide. Master of Education thesis in Science Education, Graduate School, Khon Kaen University. Thai.

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 13 หน้า 7 เขียนโดย  ครูสมฤทัย   สังฆคราม สควค.รุ่น 6 ครู โรงเรียนโนนเมือง จ.ชัยภูมิ
ภาพประกอบจาก : http://www.doctordisruption.com/wp-content/uploads/2013/09/research_of_analogy.gif

Exit mobile version