การสอนแบบเปรียบเทียบโดยใช้รูปแบบ FAR GUIDE [Analogy Approach]

การสอนด้วยวิธีการสอนแบบเปรียบเทียบ (analogy) เป็นวิธีการสอนโดยการใช้สิ่งต่างๆ ที่ง่าย บุคคลคุ้นเคย มีความเป็นรูปธรรมมาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจมโนมติที่มีความเป็นนามธรรม ยากในการทำความเข้าใจ โดยมีนักวิทยาศาสตร์ศึกษา กล่าวถึงการเปรียบเทียบไว้หลายท่าน ที่จะนำมากล่าวในที่นี้คือ Glynn, S.M (2008) กล่าวว่าการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบ(analogy) คือ การเปรียบเทียบระหว่างความเหมือนของสองมโนมติ มโนมติที่คุ้นเคย เรียกว่า Analog และมโนมติที่ไม่คุ้นเคย เรียกว่า target ซึ่งทั้งสองมโนมติ มีการใช้คุณลักษณะต่างๆ ร่วมกันระหว่าง analog และ target และต้องสามารถบอกความต่างระหว่าง analog กับ target ได้

analogy-teachingDuit (1991) บอกชนิดของการเปรียบเทียบตามความสัมพันธ์ระหว่างตัวที่ใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่กล่าวถึง ได้ 4 ชนิด ได้แก่
          1. ใช้รูปภาพประกอบการอธิบาย (pictorial/verbal) เพื่อถ่ายทอดความคิดหรือเป็นตัวแทนของมโนมติที่มีความเป็นนามธรรม  เช่น กราฟ ไดอะแกรม หรือรูปภาพ
          2. โดยใช้ตัวบุคคล (personal analogies) เป็นการเปรียบเทียบมโนมติทางวิทยาศาสตร์กับอวัยวะส่วนต่างๆในร่างกายมนุษย์
          3. ใช้สิ่งเปรียบเทียบที่หลากหลาย (Multiple Analogies) เป็นการอธิบายมโนมติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ใช้หลายๆ analog ช่วยในการอธิบาย เช่น การเปรียบเทียบเรื่องภาวะเรือนกระจก โดยสวนที่อยู่ในกระจกใช้เปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น ใช้เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในร่างกายที่เกิดจากการใส่เสื้อหลายชั้นซึ่งดูเหมือนจะทำให้เข้าใจได้ดีกว่า
          4. Bridging Analogies เป็นการเปรียบเทียบที่เชื่อมโยงจากมโนมติหนึ่งไปยังอีกมโนมติหนึ่ง เพื่อลดช่องว่างระหว่าง analog และ target ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน นักเรียนทำความเข้าใจยาก โดยใช้การเปรียบเทียบทีละขั้นตอน

วิธีการสอนแบบเปรียบเทียบ มีนักการศึกษาได้กล่าวไว้หลายรูปแบบแต่รูปแบบ Focus-Action-Reflection (FAR) Guide เป็นวิธีการเปรียบให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้

        1. ขั้น Focus ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
             1.1 Concept :: ครูวิเคราะห์และคัดเลือกมโนมติที่เข้าใจยาก ไม่คุ้นเคย หรือเป็นนามธรรม
             1.2 Student :: ครูวิเคราะห์พื้นฐานความรู้เดิมของนักเรียนเกี่ยวกับ มโนมติที่ศึกษาเป็นอย่างไร และนักเรียนคุ้นเคยกับมโนมติ ใดบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยใช้แบบสำรวจ
             1.3 Analog ::  ครูวิเคราะห์เลือกสิ่งที่จะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบ ต้อง เป็นสิ่งที่คล้ายกับมโนมติที่จะสอนและนักเรียนมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี

         2. ขั้น Action ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
              2.1 Like :: ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อหาความเหมือนระหว่างตัวเปรียบเทียบ (analog) กับมโนมติที่ศึกษา(Target)
              2.2 Unlike :: ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อหาความแตกต่างระหว่าง ตัวเปรียบเทียบ (analog) กับมโนมติที่ศึกษา(Target)

          ในขั้นนี้ครูต้องช่วยให้นักเรียนสามารถสรุปความเหมือนและความแตกต่างให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดมโนมติที่คลาดเคลื่อน (misconception) ไปจากมโนมติวิทยาศาสตร์ (Scientific conception)

        3. ขั้น Reflection ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
            3.1 Conclusion :: ครูวิเคราะห์และสรุปผลจากการเรียนรู้โดยใช้ตัวเปรียบเทียบ(analog) ว่าทำให้นักเรียนเรียนรู้หรือนักเรียนสับสน
            3.2 Improvement  :: ครูจะต้องปรับปรุง แก้ไขหรือมีการเพิ่มวิธีการอื่นๆ ในการสอนเรื่องนี้หรือไม่ และพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้สิ่งที่ใช้ (analog) ในครั้งต่อไป

การสอนแบบเปรียบเทียบ ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ช่วยให้สามารถจดจำได้ดี แต่อาจทำให้เกิดมโนมติคลาดเคลื่อนและเกิดความสับสนมากขึ้นได้ ผู้นำไปใช้ควรเลือก analog ให้ง่ายต่อความเข้าใจ

แหล่งข้อมูลและผลงานวิจัยของผู้เขียนบทความนี้ : Somrutai Sangkakram. 2010. Grade 10 students’ mental models of chemical bonding using analogy teaching approach: Focus-Action-Reflection (FAR) guide. Master of Education thesis in Science Education, Graduate School, Khon Kaen University. Thai.

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 13 หน้า 7 เขียนโดย  ครูสมฤทัย   สังฆคราม สควค.รุ่น 6 ครู โรงเรียนโนนเมือง จ.ชัยภูมิ
ภาพประกอบจาก : http://www.doctordisruption.com/wp-content/uploads/2013/09/research_of_analogy.gif



Leave a Comment