โทรเลข (Telegraph Service) คือ ระบบโทรคมนาคมซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เดิมส่งโดยอาศัยสายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกัน และอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่ระยะหลังมีการใช้วิธีการส่งไร้สายหรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิทยุโทรเลข” (Radio Telegraph, Wireless Telegraph หรือContinuous Wave)
โทรเลข ถูกคิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2380 โดยชาวอเมริกันชื่อ แซมมวล มอร์ส (Samuel Morse) ผู้ให้กำเนิดการสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส สำหรับประเทศไทยได้นำระบบโทรเลขมาใช้ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2418 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมกลาโหม ได้สร้างและเดินสายโทรเลขจากกรุงเทพไปถึงปากน้ำ สมุทรปราการรวมระยะทาง 45 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสารกันของทางราชการ กิจการโทรเลขไทยมีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนกระทั่งมาพ่ายแพ้ให้แก่อุปกรณ์สื่อสารใหม่ๆ อย่างโทรพิมพ์ เทเลกซ์ โทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ต
30 เมษายน 2551 บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำการยกเลิกการให้บริการโทรเลขอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ ปิดตำนานบริการโทรเลขมากว่า 133 ปี (พ.ศ. 2418-พ.ศ. 2551) ด้วยเหตุผลหลักคือ เป็นกิจการที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีสารพัดเทคโนโลยีสื่อสารมาช่วยให้ผู้คนติดต่อถึงกันได้อย่างสะดวก โดยในวันนั้น มีประชาชนสั่งจองโทรเลขที่ระลึกฉบับสุดท้ายพร้อมตราประทับพิเศษ สูงถึงหนึ่งแสนฉบับ (โทรเลขทางการทหารยังไม่ได้ยกเลิก เพราะเป็นการสื่อสารที่ยังใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่จำกัดทางการสื่อสารยุคใหม่)
การรับส่งโทรเลข คือ การรับส่งสัญญาณที่อาศัยแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวนำ สัญญาณจากผู้ส่งจะวิ่งไปตามขดลวดจนถึงผู้รับ และการจะทำให้เกิดแม่เหล็กไฟฟ้านั้นมีส่วนประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ แกนของขดลวดตัวนำและขดลวดที่พันอยู่รอบๆแกนเหล็กเพื่อจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า โดยปลายลวดไฟฟ้าที่พันรอบแก่นเหล็กของเครื่องรับส่งโทรเลขด้านหนึ่งจะต่อเข้ากับขั้วไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ส่วนอีกด้านหนึ่งต่อกับอุปกรณ์รับส่ง เมื่อมีการกดสวิทซ์ซึ่งเป็นสปริงทองเหลืองก็จะทำให้เกิดเป็นวงจรไฟฟ้า และเกิดเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในเครื่องรับทำให้สามารถดูดแผ่นเหล็กให้มากระทบกับแกนเหล็กได้ และเมื่อหากกดแล้วปล่อยก็จะมีผลเป็นจุด(.)แต่หากกดค้างไว้ก็จะทำให้มีสัญญาณออกมาเท่ากับระยะเวลาที่กดค้างไว้จึงเป็นที่มาของสัญญาณแบบจุด(.) และแบบขีด(-) ในรหัสมอร์ส แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ
ในระยะแรกของการรับส่งสัญญาณโทรเลขนั้น ยังอาศัยการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงที่ส่งสัญญาณไปในสายลวดทำให้สามารถรับส่งสัญญาณโทรเลขได้ทางเดียวคือหากฝ่ายส่งยังส่งไม่เสร็จฝ่ายรับก็จะส่งกลับมาไม่ได้ ซึ่งเรียกระบบการรับส่งสัญญาณโทรเลขแบบนี้ว่าระบบระบบซิมเพล็กซ์ (simplex) ต่อมาได้มีการปรับปรุงวิธีการรับส่งสัญญาณทำให้สามารถทั้งรับและส่งสัญญาณได้พร้อมกันในสายลวดเส้นเดียว เรียกระบบนี้เรียกว่าระบบ ดูเพล็กซ์ (duplex) ภายหลังการรับส่งสัญญาณทางโทรเลขยังคงพัฒนาต่อไปจนกระทั่งเกิดเป็นระบบการรับส่งสัญญาณระบบมัลติเพล็กซ์ (multiplex) ซึ่งสามารถส่งโทรเลขไปมาในเวลาเดียวกัน และใช้สายเส้นเดียวกันได้มากกว่าระบบดูเพล็กซ์ ถึง 4 เท่า และก่อนยกเลิกมีการรับส่งเป็นโทรพิมพ์ซึ่งใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุมการทำงาน รับส่งสัญญาณด้วยความเร็ว 240 คำต่อนาที
เมื่อโลกต้องพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เทคโนโลยีที่นำสมัยในวันวาน ก็กลายเป็นของตกยุคในวันนี้ แต่อย่างน้อยเราต้องรำลึกถึงคุณค่าของโทรเลข ในแง่ที่เป็นเทคโนโลยีที่นำสมัยที่สุด ในยุคการสื่อสารด้วยม้าเร็ว และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า เพราะมีวันนั้นจึงมีวันนี้ของการสื่อสารไร้พรมแดน
ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 14 เขียนโดย ครูศักดิ์อนันต์ อนันตสุข สควค.รุ่น 6 ครู ร.ร. นารายณ์คำผงวิทยา จ.สุรินทร์
ภาพประกอบจาก : http://www.atom.rmutphysics.com/charud/oldnews/182/Telegraph1.gif