การจัดตั้งชมรมครู สควค. รูปแบบการพัฒนาเครือข่ายครู สควค. และการประชุมเครือข่ายครูทุน สควค. ครั้งแรก

original-tsmt 9-10 ตุลาคม 2549 :: ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ควคท. ; ชื่อย่อในขณะแรกเริ่มจัดตั้งเครือข่ายฯ) โดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุขและคณะ ได้จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. ขึ้น โดยมีกิจกรรม สัมมนาวิชาการครูทุน สควค. ในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ควบคู่กับการจัดกิจกรรม “ค่ายจุดประกายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” โดยมีนักเรียนจากหลายโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์ ที่ครู สควค. ปฏิบัติการสอน มาร่วมกิจกรรมค่าย ณ โรงเรียนพนาสนวิทยา อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์  ทั้งนี้ โดยความร่วมมือและการสนับสนุนของโรงเรียนพนาสนวิทยา กับนักศึกษาทุน สควค. ป.บัณฑิต ศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

kku-dpst-camp

หมายเหตุ : ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ควคท.) ได้จัดตั้งและดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ วันอังคาร ที่ 18 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2548 ต่อมาภายหลัง ได้ยุบและจัดตั้งขึ้นใหม่ในชื่อ ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ครู สควค.) โดยการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยถือเอาวันอาทิตย์ ที่ 27 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2549 เป็นวันจัดตั้งชมรม เพื่อรำลึกถึงวันที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินโครงการ สควค.  เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 

 

รูปแบบการพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ยึดหลักการในการพัฒนา ดังนี้
1. หลักการในการสร้างเครือข่าย  อาศัยแนวคิดเกี่ยวกับการจัดระบบโครงสร้าง  และกระบวนการจัดการศึกษาตามมาตรา 9  ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  เช่น มีเอกภาพในด้านนโยบาย มีความหลากหลายในการปฏิบัติ  กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง  ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ และการมีส่วนร่วม

2. องค์ประกอบของรูปแบบการพัฒนาเครือข่าย  ประกอบด้วย
     2.1) หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนา  ประกอบด้วย
               – สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
               – ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (ครู สควค.)
              ทั้งสองหน่วยงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริม การพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. และสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ให้ก้าวหน้า

     2.2) แม่ข่าย เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ประสานงาน ชมรมครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำเขตพื้นที่การศึกษา” โดยแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีแม่ข่ายหนึ่งแม่ข่าย บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของแม่ข่าย  เช่น  กำหนดนโยบายและแผนในการพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. ในเขตพื้นที่การศึกษาของตนเอง  พัฒนาวิธีการพัฒนาเครือข่าย ประสานการดำเนินงานกับลูกข่าย สร้างลูกข่ายใหม่  สร้างความเข้มแข็งให้กับลูกข่าย รับรองลูกข่าย พัฒนาระบบสารสนเทศของตนเอง กำกับ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินกิจกรรมให้ชมรมครู สควค. ทราบ เป็นต้น

     2.3)  ลูกข่าย ได้แก่ ครูทุน สควค. ที่ปฏิบัติการสอนในโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ให้บริการ ประสานความร่วมมือ ช่วยเหลือในเชิงวิชาการ ระหว่างลูกข่ายด้วยกัน และครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดย
               – เผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านแม่ข่าย หรือเว็บไซต์ www.krusmart.com และวารสาร สควค.
               – ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัยในเวทีระดับชาติ การเข้าร่วมโครงการพิเศษต่างๆ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในโอกาสต่างๆ

     2.4) หน่วยรับบริการ ได้แก่ ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และผู้เรียน

3. หน่วยสนับสนุน  คือ หน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. ซึ่งแม่ข่ายควรประสานความร่วมมือกับหน่วยสนับสนุนเหล่านี้ เพื่อพัฒนาเครือข่ายของตนเอง มีดังนี้
     3.1 ประเภทบุคคล เช่น ครูแกนนำ ครูต้นแบบ ครูแห่งชาติ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น  ผู้บริหารดีเด่น  เป็นต้น
     3.2 ประเภทองค์กรภาครัฐ  เช่น  คณะศึกษาศาสตร์  คณะครุศาสตร์  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โรงเรียนที่ปฏิบัติการสอน เป็นต้น
     3.3 ประเภทองค์กรเอกชน  เช่น  ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี(ศวคท.) มูลนิธิ  สโมสร  ชมรมครู  องค์กรอิสระภาคเอกชน (NGO) สถานศึกษาเอกชน  บริษัทเอกชน  เป็นต้น
     3.4 ประเภทองค์กรวิชาชีพ เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ สมาคมคณิตศาสตร์ สมาคมครู  เป็นต้น

4. ทรัพยากร ทรัพยากรการบริหารจัดการเครือข่ายของแม่ข่าย ประกอบด้วย
     4.1 ด้านงบประมาณ ใช้ทรัพยากรในโรงเรียนของแม่ข่ายและลูกข่ายเป็นหลัก โดยผู้บริหารร่วมรับทราบและอาจขอรับการสนับสนุนจากหน่วยสนับสนุนต่างๆ
     4.2 ด้านวิชาการ มาจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และการสนับสนุนของหน่วยสนับสนุนต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี(ศวคท.) และเว็บไซต์ www.krusmart.com
     4.3 ด้านบุคคล ได้แก่ สมาชิกแกนนำและทีมงาน ประจำเขตพื้นที่การศึกษานั้น
     4.4  ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้การติดต่อสื่อสารผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com โดยใช้ทรัพยากรในโรงเรียนที่ปฏิบัติการสอนเป็นหลัก

รูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อพัฒนาเครือข่ายครูทุน สควค. ที่สรุปจากงานสัมมนาวิชาการครบรอบ 1 ปีชมรม ครู สควค. เมื่อปี พ.ศ. 2549



Leave a Comment