รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสระยายโสมวิทยา ด้วยรูปแบบการประเมินโครงการแบบซิป (CIPP Model)

budชื่อผลงานทางวิชาการ : รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสระยายโสมวิทยา ด้วยรูปแบบการประเมินโครงการแบบซิป (CIPP Model)
ชื่อผู้รายงาน : นางอรไพลิน รังสรรค์ลิขิต
ปีที่รายงาน : พ.ศ. 2557

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยา ปีการศึกษา 2557 โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิป (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam D.L.) 4 ด้าน ดังนี้ 1) เพื่อประเมินด้านสภาพบริบท 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการ 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิต (4.1) ความคิดเห็นต่อองค์ประกอบด้านผลผลิต (4.2) ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินได้แก่ ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 175 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามเพื่อการประเมินโครงการโรงเรียนวิธีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยา ปีการศึกษา 2557 ผลการดำเนินการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้

1.ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) พบว่า องค์ประกอบด้านบริบทในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยา ในภาพรวม 7 ข้ออยู่ในระดับมาก (x = 4.5095, S.D.= 0.49316) ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียนและจุดหมายของหลักสูตร อันดับที่สองได้แก่ ความคาดหวังของสังคมและชุมชนว่าโครงการสามารถพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของโครงการ อันดับที่สามได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันดับที่สี่ได้แก่ โรงเรียนต้องการที่จะพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะตามที่กำหนด อันดับที่ห้าได้แก่ ชุมชนและผู้ปกครองให้ความร่วมมือสนับสนุนโครงการ อันดับที่หกได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ตามสภาพจริง และอันดับสุดท้ายได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) พบว่า องค์ประกอบด้านปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยา ในภาพรวม10 ข้อ อยู่ในระดับมาก (x =4.5092,S.D.= 0.49967) ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่การกำหนดเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสม อันดับที่สองได้แก่ ผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจต่อการดำเนินการ อันดับที่สามได้แก่จำนวนบุคลากรในการดำเนินกิจกรรมมีความเหมาะสม อันดับที่สี่ได้แก่การให้ความร่วมมือของบุคลากรในการดำเนินงาน อันดับที่ห้าได้แก่สถานที่ใช้ดำเนินกิจกรรมเหมาะสม อันดับที่หกได้แก่ผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย อันดับที่เจ็ดได้แก่ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเหมาะสม อันดับที่แปดได้แก่บุคลากรมีความรู้ความสามารถเพียงพอ อันดับที่เก้าได้แก่สื่อเอกสารและวัสดุอุปกรณ์มีเพียงพอ และอันดับสุดท้ายได้แก่การสนับสนุนด้านงบประมาณมีเพียงพอ

3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า องค์ประกอบด้านกระบวนการในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยา ในภาพรวม 12 ข้อ อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.5942, S.D. = 0.50734) ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันดับที่สองได้แก่มีการสรุปและรายงานผลการจัดกิจกรรม อันดับที่สามได้แก่มีการประเมินผลหลังการจัดกิจกรรม อันดับที่สี่ได้แก่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม อันดับที่ห้าได้แก่มีการกำหนดผู้ปฏิบัติงาน อันดับที่หกได้แก่มีการประเมินผลระหว่างดำเนินกิจกรรม อันดับที่เจ็ดได้แก่มีการประสานงานและขอความร่วมมือระหว่างผู้รับผิดชอบ อันดับที่แปดได้แก่มีการนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา อันดับที่เก้าได้แก่ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม อันดับที่สิบได้แก่กิจกรรมที่จัดมีความเหมาะสมกับนักเรียน อันดับที่สิบเอ็ดได้แก่มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อวางแผนการดำเนินงาน และอันดับสุดท้ายได้แก่การปฏิบัติงานหรือกิจกรรมเป็นไปตามปฏิทินปฏิบัติงาน

4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation)
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่าองค์ประกอบด้านผลผลิตในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสระยายโสมวิทยาในภาพรวม 8 ข้อ อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.6066, S.D.= 0.46274) ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม อันดับที่สองได้แก่ นักเรียนมีพฤติกรรมด้านศีล อันดับที่สามได้แก่กิจกรรมจัดได้เหมาะสมและสามารถปรับพฤติกรรมนักเรียนได้ อันดับที่สี่ได้แก่นักเรียนเข้าใจวัตถุประสงค์ของกิจกรรม อันดับที่ห้าได้แก่นักเรียนต้องการพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของโครงการ อันดับที่หกได้แก่นักเรียนช่วยเผยแพร่กิจกรรม ไปยังชุมชนต่าง ๆ อันดับที่เจ็ดได้แก่นักเรียนมีพฤติกรรมด้านสมาธิ และอันดับสุดท้ายได้แก่นักเรียนมี พฤติกรรมด้านปัญญา

4.2 ความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสระยายโสมวิทยา 9 กิจกรรม พบว่า ค่าเฉลี่ยรวมความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.7196, S.D.= 0.45533) ลำดับที่ที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ กิจกรรมชวนกันเข้าวัด อันดับที่สองได้แก่กิจกรรมสืบสานธรรมนำพระพุทธศาสนา(การเรียนและสอบธรรมสนามหลวง) อันดับที่สามได้แก่กิจกรรมทำบุญวันสำคัญ อันดับที่สี่ได้แก่กิจกรรมต้นไม้พูดได้ อันดับที่ห้าได้แก่กิจกรรมบันทึกความดี อันดับที่หกได้แก่กิจกรรมบรรพชาสามเณร/ศีลจาริณีภาคฤดูร้อน อันดับที่เจ็ดได้แก่กิจกรรมระเบียงธรรม/ความรู้ อันดับที่แปดได้แก่ค่ายพุทธบุตร อันดับสุดท้ายได้แก่กิจกรรมยุวพุทธอาสา

ภาพประกอบจาก : http://www.vitheebuddha.com/ckfinder/userfiles/images/bud.GIF



Leave a Comment