การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี กรด-เบส โดยวิธีจัดการเรียนรู้แบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อย

การจัดการเรียนการสอนโดยทั่วไปเป็นการบอกให้จำ เมื่อมีการค้นคว้าหรือการทดลองก็มักมีการกำหนดหรือการคิดไว้ก่อนว่าผลออกมาควรเป็นอย่างไร  เช่น ผลที่ออกมาจะต้องไม่ขัดกับทฤษฎี ที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่  ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษามักเน้นหนักที่การแก้โจทย์ปัญหามากกว่าการทดลองทั้ง ๆ ที่การสังเกตการทดลองเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์ จากปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีบทบาทในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อผู้เรียนจะได้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยการปฏิบัติ  ได้คิด ได้วิเคราะห์และแก้ปัญหาโดยอยู่บนพื้นฐานของความสนใจและศักยภาพของผู้เรียนเอง และผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ได้ในชีวิตจริง  สำหรับรูปแบบของการจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการสอนในลักษณะของการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นมีหลากหลายวิธี เช่นการสอนแบบการทดลองที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน

young-researcher-soilผู้วิจัยจึงทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์การเรียนวิทยาศาสตร์ สาระการเรียนรู้เคมี หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยการจัด  กิจกรรมการจัดการเรียนรู้แบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อย ซึ่งเป็นกิจกรรมการทดสอบสภาพของดินภาคสนามตามคู่มือของหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีทักษะการทดลอง การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาดินซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมบริเวณรอบ ๆ โรงเรียน และชุมชนใกล้เคียง

วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมการทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อย

ตัวแปรที่ศึกษา
     1. ตัวแปรต้น  คือ การจัดการเรียนรู้แบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อย
     2. ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์

กลุ่มตัวอย่าง
นักเรียนชั้น ม. 6  โรงเรียนทุ่งแฝกพิทยาคม  จังหวัดสุพรรณบุรี   ภาคเรียนที่ 1   ปีการศึกษา 2549  ผู้วิจัยสุ่มนักเรียนมา 1 ห้องเรียน จำนวน  23 คน จากการสุ่มอย่างง่าย

ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ผู้วิจัยทำการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 โดยใช้เวลาในการทดลอง 16 ชั่วโมง

สมมติฐานการวิจัย
ผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการจัดการเรียนรู้แบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย
เป็นเนื้อหาจากหลักสูตรสถานศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มเติม หน่วยการเรียนรู้ย่อยเรื่อง  กรด-เบส ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544 โดยมีหัวข้อเรื่อง ดังต่อไปนี้
     1) ทฤษฎีกรด – เบส
     2) คู่กรด-เบส
     3) การไทเทรดกรด-เบส
     4) การแตกตัวของกรด-เบสการหาค่า pH และ pOH ของสารละลาย
     5) สารละลายกรดและสารละลายเบส
     6) อินดิเคเตอร์
     7) สารละลายบัฟเฟอร์

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง  ซึ่งทำการทดลองตามแบบแผนการวิจัยแบบ One  Group Pretest – Posttest Design

วิธีดำเนินการ
     1. สุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โดยการจับฉลากมาจำนวน  1  ห้องเรียน จาก 2 ห้องเรียน จำนวน  23  คน
     2. ชี้แจงวิธีการเรียนเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
     3. ทดสอบก่อนเรียน (pre-test) โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์
     4. ดำเนินการสอน โดยใช้แบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอ ดินน้อย ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้สอนเอง ใช้เวลา 16  ชั่วโมง
     5. ทำการทดสอบหลังเรียน  (post-test) โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์
     6. นำคะแนนที่นักเรียนทำได้ มาวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทางสถิติ t – test แบบ  Dependent

ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
คะแนนเฉลี่ยและความเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนได้รับการสอนแบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยเท่ากับ 28.30 และ 7.13  ตามลำดับ  และหลังจากจากได้รับการสอนแบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยมีคะแนนเฉลี่ยและความเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 44.96 และ 5.94 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการทดลองพบว่า  นักเรียนที่ได้รับการสอนแบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยหลังเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  และเมื่อพิจารณาความเบี่ยงเบนมาตรฐานพบว่ามีค่าลดลงจาก  7.13 เป็น 5.94  แสดงว่าการกระจายของคะแนนมีค่าลดลงซึ่งทำให้มีความแตกต่างระหว่างบุคคลน้อยลง คือ นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์การเรียนทางวิทยาศาสตร์ใกล้เคียงกัน

อภิปรายผล
1. การสอนแบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยในเนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับผู้เรียนและการสอนนี้เป็นการสอนที่เน้นบทบาทผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามกิจกรรม ซึ่งช่วยให้นักเรียน เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้  ทำให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่  มีความสนุกสนานเกิดความรักในการเรียนส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

2. การทดลองในกิจกรรมหมอดินน้อยเป็นสื่อที่ดึงดูดใจนักเรียน จากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน เมื่อมีการปฏิบัติตามบทปฏิบัติการ นักเรียนจะสนใจ และเพลิดเพลินกับการเรียน เนื่องจากนักเรียนได้ปฏิบัติจริง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้

3. การเรียนด้วยกิจกรรมหมอดินน้อย นักเรียนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในบทเรียนได้ด้วยตนเองและยังไปปฏิบัติจริงอย่างเป็นลำดับขั้นตอน  ทั้งในภาคสนาม และในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลการทดลองท้าทาย เห็นผลจริง รวมทั้งเกิดความเพลิดเพลินในการเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี

4. กิจกรรมหมอดินน้อยในแต่ละเรื่องมีการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อนที่จะเรียนเนื้อหา  จึงทำให้นักเรียนทราบเป้าหมายในการเรียนที่ชัดเจน  ทำให้รู้ว่าจะเรียนอะไรจึงส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ  สร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้เป็นอย่างดี  ทำให้เกิดการเรียนรู้ และในแบบกิจกรรมหมอดินน้อยแต่ละเรื่องเมื่อเรียนจบเรื่องแล้ว จะมีแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ตรวจสอบความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งเมื่อพบว่าเรื่องใดที่ยังไม่เข้าใจหรือทำแบบฝึกหัดไม่ได้  สามารถกลับไปศึกษาใหม่ให้เข้าใจได้ตามความต้องการ โดยศึกษาเพิ่มเติมจากใบความรู้ประกอบชุดกิจกรรม ทำให้นักเรียนสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้  เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ 

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัย
1.  ควรมีการศึกษาผลการสอนแบบทลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยของนักเรียนกับตัวแปรอื่น ๆ เช่น  ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ความคิดสร้างสรรค์  ความคงทนในการเรียนรู้
2. ควรมีการวิจัยที่ใช้การสอนแบบทดลองด้วยกิจกรรมหมอดินน้อยกับนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำ   ปานกลาง  สูง

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 12 หน้าที่ 8-9 เขียนโดย ครูเจษฎา   เนตรสว่างวิชา สควค.รุ่น 1 ครู ร.ร.ทุ่งแฝกพิทยาคม จ.สุพรรณบุรี



Leave a Comment