การพัฒนาชุดกิจกรรม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับการสอนแบบบ่งชี้และการสะท้อนความคิด เพื่อส่งเสริม NOS

ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรม เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับการสอนแบบบ่งชี้และการสะท้อนความคิด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางสาวณิชัชฌา อาโยวงษ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนหนองหว้าพิทยาสรรค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีการศึกษา 2559

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบบ่งชี้และการสะท้อนความคิด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ (1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาชุดกิจกรรม (2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (3) ทดลองใช้ชุดกิจกรรม และ (4) ประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เรียนด้วยชุดกิจกรรม ดังนี้ (4.1) เปรียบเทียบความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม (4.2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม และ (4.3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ห้องเรียน 6/2 ที่ศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ของโรงเรียนหนองหว้าพิทยาสรรค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 27 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) ชุดกิจกรรม เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ร่วมกับการสอนแบบบ่งชี้และการสะท้อนความคิด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 จำนวน 6 ชุด, (2) แบบวัดความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ 8 ข้อ, (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 30 ข้อ, (4) อนุทิน และ (5) แบบสอบถามความพึงพอใจ 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่า t-test แบบ Dependent การทดสอบค่า t-test one group และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัย พบว่า (1) ครูและนักเรียนต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนด้วยชุดกิจกรรม เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับการสอนแบบบ่งชี้และการสะท้อนความคิด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 6 เพราะสามารถถ่ายทอดความเป็นรูปธรรมให้กับผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนความเข้าใจการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ การได้มาซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคม, (2) ชุดกิจกรรมมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.78/81.14, (3) ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรม พบว่านักเรียนปฏิบัติกิจกรรมได้ตามที่กำหนด มีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ได้ถูกต้องครบทุกประเด็น และ (4) ประสิทธิผลของชุดกิจกรรมเป็น ดังนี้ (4.1) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยพบว่า นักเรียนมีความเข้าใจถูกต้อง (Understanding: U) คิดเป็นร้อยละ 50.93 มีความเข้าใจบางส่วน (Partial Understanding: PU) คิดเป็นร้อยละ 43.52 มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน (Misunderstanding: MU) คิดเป็นร้อยละ 5.55 และไม่เข้าใจ (Naïve Understanding: NU) ร้อยละ 0.00 ทั้งนี้ด้านโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific World View) มีค่าสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 58.02, (4.2) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (4.3) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม อยู่ในระดับ มาก ( x=4.46, S.D=0.61) ทั้งนี้ด้านการเห็นคุณค่าและความมั่นใจในตนเอง มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด

ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://119.46.166.126/self_all/selfaccess12/m6/550/lesson4/content4.php



Leave a Comment