บทบาทของ ICT กับการศึกษาไทย ไอซีที มีส่วนช่วยพัฒนาการศึกษาไทยอย่างไร

ict-educationการพัฒนาการศึกษาไทย ในศตวรรษที่ 21 เราคงปฏิเสธกันไม่ได้ที่จะเห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในวงการศึกษาของประเทศไทย มีความชัดเจนว่าได้มีการนำ ICT เข้ามาใช้ในระดับนโยบายของประเทศกันเลยทีเดียว และโรงเรียนต่างๆ นั้น ก็ได้รับจัดสรรเงินทุนสนับสนุนด้าน ICT กันอย่างทั่วถึง ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กตามสัดส่วน โดยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทศวรรษ 2020  มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และคุณค่าก็อยู่ที่การค้นพบสิ่งใหม่ที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและตัวความรู้เอง ความมั่งคั่งของแต่ละชาติจะเคลื่อนย้าย จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเงินทุนในอดีต ไปสู่ความรู้และความชำนาญ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้หลายประเทศในโลกที่เห็นความสำคัญของการศึกษา ต่างปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก มาเป็นระบบที่เน้นความรู้ในการพัฒนาประเทศแทน เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มีรายได้ของประชากร ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ส่งออกที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อไปสู่ประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรม ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังจะปรับเปลี่ยนไปสู่ สังคมดิจิตอลไปแล้ว วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งนั้น ทำให้โครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงไป เช่น การโคลนนิ่ง การตัดต่อพันธุกรรม การถอดรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต สิ่งเหล่านี้คือวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีผลกับการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังช่วยในการรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ไม่ให้เสื่อมไปตามกาลเวลา ช่วยศึกษาอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรหรือเมืองแห่งประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในอดีตได้ด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือผลของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งหากผู้นำประเทศมองเห็น และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ก็สามารถแข่งขันกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้วได้

พลิกโฉมการเรียนด้วยนวัตกรรมใหม่ทางไอซีที
ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้และก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีนั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงนำมาใช้ในวงการศึกษาด้วย

ICT เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลอย่างยิ่งในการเรียนการสอน โดยการตั้งจุดมุ่งหมายให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียน
มีสมรรถนะในการใช้ ICT ได้ ในส่วนของการใช้ในเนื้อหาบทเรียนและใช้เป็นเครื่องมือการเรียน ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ และลักษณะการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้การเรียนการสอนด้วย ICT มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (กิดานันท์ มลิทอง, 2548)

มุมมองทางสังคมกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไทย   
ถ้ามีคนถามเด็ก ๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่า หมอ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ น้อยคนนักที่จะตอบว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนาเทคโนโลยี เพราะสังคมของประเทศไทยนั้นยังไม่เข้าใจในวิทยาศาสตร์เพียงพอ ไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นเข้าไปมีส่วนกับทุกๆ เรื่องของชีวิต พอพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงสมการการคำนวณอันซับซ้อนและเรื่องเลวร้ายที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ เช่น เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูรั่วที่รัสเซีย แก็สพิษรั่วที่อินเดีย ระเบิดปรมาณู เป็นต้น จนทำให้สังคมเหล่านั้นปิดกั้นไม่อยากรับรู้ หรือเข้าใจวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมรอยัล ออคิด มีจำนวนผู้เข้าลงทะเบียนประมาณ 800 คน เมื่อเปรียบเทียบประชากรกว่า 60 ล้านคน สังคมไทยยังมองไม่เห็นบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีบทบาทในการสร้างชาติ เหมือนกับนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ ในการประชุมครั้งนั้นมีข้อหนึ่งที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดความรู้ และความตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สังคมได้รับรู้บ้างและควรเป็นหน้าที่ของใคร

ICT เปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาอย่างไร?
     1. ลดช่องว่างการแข่งขันระหว่างองค์กรหรือสถาบันการศึกษาทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

     2. ทำให้องค์กรสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ต้องปรับตัวทั้งในด้านการบริหาร การจัดการองค์กรรวมไปถึงวิธี ดำเนินการ
     3. ก่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจการศึกษามากขึ้น
     4. สร้างช่องทางการขยายการศึกษามากขึ้น
     5. เกิดการทำงานภายใต้หลักการ “การศึกษา 24 ชั่วโมง” ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมทางการศึกษาตลอดเวลา         
     6. สร้างรูปแบบของความร่วมมือทางการศึกษาหรือเครือข่ายการศึกษาที่หลากหลายขึ้น
     7. ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ให้เกิดแรงผลักดันในการจัดการศึกษารูปแบบแปลกใหม่มากขึ้น

ICT เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างไร?
     1. เป็นตลาดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถเลือกซื้อสินค้าความรู้และบริการการศึกษาจากแหล่งต่างๆ ได้ทั่วโลก

     2. สามารถคัดเลือกและเปรียบเทียบคุณภาพราคา และช่วยประหยัดเวลาเนื่องจากไม่ต้องเดินทาง (ขณะนี้มี เว็บไซต์บริการให้เข้าศึกษาก่อนจ่ายเงินทีหลัง)
     3. สามารถรับข้อมูลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหลากหลายแง่มุม เช่น รายละเอียดของหลักสูตร ข้อมูลอาจารย์ผู้สอน รวมถึงยังสามารถให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ การจัดการศึกษานั้นๆ ได้โดยตรงอีกด้วย
     4. ได้รับความสะดวกในการศึกษา เพราะสามารถนั่งศึกษาอยู่ที่บ้านหรือที่ใด ๆ ได้ทั่วโลกที่มีอินเทอร์เน็ต

การใช้ ICT ทำให้สามารถมีการเรียนได้ทุกเวลาในทุกสถานที่ จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป ด้วยสมรรถนะของคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว และเครือข่ายไร้สายที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถใช้งานได้ในทุกหนทุกแห่งโดยสะดวก การเรียนการสอนทั้งแบบในระบบและนอกระบบโรงเรียนจึงขยายวงกว้างไปได้ในทุกแห่งในโลก เครือข่ายการศึกษาเป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนโดยใช้ ICT ได้เป็นอย่างยิ่ง (เติมศักดิ์ เศรษฐวัชราวนิช. 2540)

ข้อเสนอแนะ
การแก้ไขปัญหาบุคลากรขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จะต้องแก้พร้อมๆ กัน เพื่อให้การแก้ไขโครงสร้างการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างยั่งยืน ในแต่ละด้าน ดังนี้

     1. ด้านผู้เรียน คือผู้ที่จะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ต้องปลูกฝังความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพื่อที่สร้างแรงจูงใจใฝ่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตลอดไป
     2. ด้านผู้สอน  อาชีพ ครู อาจารย์ จะเป็นผู้จุดประกายความสนใจให้นักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ ให้เห็นถึงคุณค่า และความจำเป็นที่ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนผู้สอนที่จะต้องสอนผู้ที่จะจบสาขานิเทศศาสตร์นั้นจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นผู้ที่ต้องค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
     3. ด้านหลักสูตร ควรปรับหลักสูตรทุกระดับให้มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นให้ฝึกการคิดมากกว่า การมุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง ::
1. กิดานันท์  มลิทอง. ไอซีทีเพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2548.
2. สิปปนนท์ เกตุทัต. “แนวคิดเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาของประเทศไทย” ใน ความหวังและอนาคตของชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. พระนครศรีอยุธยา : คณะวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, ม.ป.ป.
3. เติมศักดิ์  เศรษฐวัชราวนิช. วิทยาศาสตร์พัฒนาชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏสวนดุสิต, 2540.
4. สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี จำกัด, 2546.

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 13 หน้าที่ 12-13 เขียนโดย นางนิตยาพร   กินบุญ ครู สควค. รุ่น 6 นักศึกษา ป.เอก สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น
ภาพประกอบจาก : http://interacc.typepad.com/.a/6a01053596fb28970c0105361a4ed2970c-pi



Leave a Comment