แผนการสอนหน้าเดียวของครูญี่ปุ่น แผนการสอนจริงครูญี่ปุ่น แผนการสอนหน้าเดียวทำอย่างไร รูปแบบแผนหน้าเดียวของญี่ปุ่น

ตามที่มีคนสนใจแชร์กันเยอะมาก และอยากอ่านเข้าใจ ทางศูนย์ฯ จึงได้ประสานงานไปยังอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ดูแลการเยี่ยมชั้นเรียนเมื่อเดือน พ.ย. ปี ๒๕๖๑ เพื่อขออนุญาตแปลแผนการสอนของคุณครูยามาดะ ริซาโกะ คุณครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียน Zao Nidai Shougakko จากจังหวัดยามางาตะ มาเผยแพร่

ประเด็นแรกที่อยากชวนพิจารณาไม่ใช่ความยาวของแผน แต่คือ การออกแบบการสอนที่มีภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนชัดเจน เห็นบทบาทของนักเรียนที่แม้จะอยู่ชั้น ป.๑ แต่ก็ต้องเป็น ‘ผู้แสดงหลัก’ ในการเรียนรู้ จะเห็นว่าการวางขั้นตอนการสอน ครูจะมีหน้าที่นำเสนอ – ถาม – ให้คำแนะนำ – ดูแลสนับสนุน เด็ก ๆ คือเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองอย่างแท้จริงแม้จะเป็นผู้เรียนเด็กเล็กชั้น ป.๑

ประเด็นที่ ๒ ความน่าสนใจอีกประการคือ การกำหนดบทบาทสนับสนุนของครูที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการประเมินผล และเป็นการประเมินผลในระดับชั้นเรียนที่เรียกร้องให้ครูต้องสังเกตผู้เรียนเป็นรายบุคคล กิจกรรม Active Learning ในชั้นเรียนที่ตื่นตัว กระตือรือร้นในความหมายนี้ จึงไม่ใช่ห้องเรียนเสียงดัง ที่คุณครูนำเกม หรือกิจกรรม แต่เด็ก ๆ แต่ละคนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำงานของตนเองเงียบ ๆ โดยมีเพื่อนคอยสนับสนุน มีคุณครูคอยเดินสังเกตการเรียนรู้เป็นรายบุคคล ช่วยถามคำถาม ให้คำแนะนำและเสียงสะท้อนป้อนกลับ ให้กำลังใจ

ประเด็นที่ ๓ เนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นการสอนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๑ จึงยังไม่เน้นการเรียนสาระความรู้ ผู้สอนกำหนดเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า

– รู้สึกสนุกถึงความสนุกของนิทานและทำความคุ้นเคยกับการอ่านในชีวิตประจำวันได้
– มีความสนใจในหนังสือนิทานและสามารถถ่ายทอดเนื้อหาและความรู้สึกหลังอ่านให้กับผู้อื่นได้

ซึ่งสะท้อนปรัชญาและเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่จัดดำเนินการตามแนวทางโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community: SLC) ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน และครู อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้จากการสัมผัสประสบการณ์ตรง แลกเปลี่ยน พูดคุย สื่อสาร สะท้อนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองได้ และรู้สึกสนุกกับการอ่าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการอ่านให้เป็นนิสัย

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมสังเกตชั้นเรียนที่คุณครูยามาดะ จัดกิจกรรมตามแผนการสอนนี้ด้วย และประทับใจในบทบาทของคุณครูที่แม้จะเป็นการสอนชั้นเด็ก ป.๑ รร.ประถมศึกษาขนาดเล็ก เด็ก ๆ มาจากครอบครัวที่มีเศรษฐสถานะปานกลางค่อนข้างต่ำ แต่คุณครูจัดการชั้นเรียนและดำเนินการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังเกตผู้เรียนทุกคนอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกคน นักเรียนเองก็มีส่วนร่วมในการเรียน ฟังนิทานอย่างตั้งใจ พูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม มีสมาธิในการแต่งกลอน และพยายามเลือกใช้คำมาเขียนเป็นกลอนทังกะ ที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยมีเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ที่เรียกว่า Buddy คอยสนับสนุนกันและกัน และมีคุณครูให้ความช่วยเหลือ

เรียนย้ำอีกทีว่าแผนการสอนหน้าเดียวนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ครูทำงานลำพัง แต่มาจากการออกแบบและร่างแผนเพื่อนำเสนอในการประชุมครูตามแนวทางการศึกษาบทเรียนร่วมกัน พิจารณาร่วมกัน เห็นพ้องกันก่อนจึงนำไปสู่การเขียนแผนแล้วนำไปใช้

แผนการสอนหน้าเดียวไม่ใช่แค่ทำให้พอเสร็จ ๆ ง่าย ๆ แต่มาจากบทเรียนที่ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ และเมื่อใช้แล้วก็มีการนำเสนอผล และฟังเสียงสะท้อน ถอดบทเรียนร่วมกัน

ชั้นเรียนของคุณครูยามาดะ เคยถูกนำเสนอสั้น ๆ ในรายการฉันจะเป็นครู ตอนที่ ๑๒ ที่ผู้เขียนในฐานะผู้ดำเนินรายการร่วมได้พาทีมงานเยี่ยมชมการทำงานของคุณครูญี่ปุ่นในชั้นเรียนที่จังหวัดยามางาตะ ครูยามาดะ เป็นนักศึกษาปริญญาโท ที่กำลังฝึกภาคสนามภายใต้คำแนะนำของคุณครูใน โรงเรียน Zao Nidai Shougakko ซึ่งในการพัฒนาแผนการสอน ใช้กระบวนการศึกษาบทเรียนตามแนวทางของ SLC รูปแบบของแผนการสอนเป็นแนวทางที่ใช้ร่วมกันทั้งนิสิตนักศึกษาฝึกสอนและครูประจำการ

เนื่องจากทางญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในการเผยแพร่ภาพชั้นเรียนที่มีนักเรียนอยู่ด้วย จึงไม่สามารถนำเสนอภาพจากชั้นเรียนทั้งหมดในหน้าเพจได้ อย่างไรก็ตามคลิปรายการและภาพบางส่วนที่ได้รับอนุญาตเผยแพร่ ผู้เขียนจะทยอยนำมาให้ชมและติดตามเพื่อประโยชน์ทางวิชาการต่อไป

อนึ่ง เนื่องจากแผนการสอนเป็นงานวิชาการของคุณครู และทางญี่ปุ่นให้คุณค่ากับการให้ความเคารพในเชิงวิชาการ ผู้ที่จะเผยแพร่ต่อ ขอความร่วมมือในการอ้างถึงคุณครูผู้เป็นเจ้าของแผน และระบุที่มาของเอกสารจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ประสานงานกับทางฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีที่มีผู้สนใจต้องการประสานงานต่อไป

ขอขอบคุณ Assoc.Prof.Tomoyuki Morita จาก Yamagata University สำหรับการประสานงาน และคุณกวิน เซ่งเจริญ นิสิตชั้นปีที่ ๔ วิชาเอกสังคมศึกษา-คอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปลเอกสารนี้ด้วยความกระตือรือร้นยิ่ง

ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหา : อรรถพล อนันตวรสกุล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณที่มาของแผนการสอนฉบับแปลและต้นฉบับ : คุณครูยามาดะ ริซาโกะ (เจ้าของ), กวิน เซ่งเจริญ (ผู้แปล), อรรถพล อนันตวรสกุล (ผู้ตรวจทาน)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาโดย : นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข และเว็บไซต์ครูสมาร์ทดอทคอม



Leave a Comment