พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ทรงบุกเบิกข้าวไทย สวนจิตรลดา นาข้าวของพระมหากษัตริย์ไทย

“…ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชากรคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราต้องปลูก…” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2536

king-thai-rice

 

“ข้าพเจ้า มีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่า การทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่ไม่ใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวดีและต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป” พระราชดำรัสฯ พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม 2504 จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการผลิตข้าวให้เจริญงอกงามจนสร้างชื่อเสียงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาข้าวไทยและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อเปลี่ยนความทุกข์ยากลำบากเป็นความสุขสบายอย่างพอเพียงและมีคุณภาพ
          ปี พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ห่างหายไปนาน เพื่อบำรุงขวัญชาวนาและเกษตรกรไทย
          ปี พ.ศ. 2504 ทรงจัดทำพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานเป็นครั้งแรก โดยทรงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวนางมล ที่กรมการข้าวถวายไปปลูกที่สวนจิตรลดา “นาข้าวของพระมหากษัตริย์ไทย” จึงเกิดขึ้นบนเนื้อที่ 1,000 ตารางเมตร โดยทรงขับรถไถนาควายเหล็กเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าวและทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อข้าวออกรวงก็ทรงใช้เคียวเกี่ยวข้าวในนาแปลงนี้ และนำไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีถัดไป ปัจจุบันพื้นที่ทำนาแปลงดังกล่าว มีสถานีทดลองข้าวบางเขน กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้สนองพระราชดำริ ทรงโปรดเกล้าให้มีการจัดตั้งโรงสีข้าว เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคายุติธรรม ปัจจุบันสามารถส่งข้าวไทยจากโรงสีข้าวพระราชทานไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและยุโรปบางประเทศ
          ปี พ.ศ. 2519 ทรงตั้งธนาคารข้าว ให้เป็นแหล่งอาหารสำรองหมุนเวียนในหมู่บ้าน และจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน ให้เช่าซื้อควายด้วยการผ่อนส่งระยะยาว เอาไปใช้งานและยืมไปเป็นพ่อแม่พันธุ์
          ทรงทำให้ประชาชนชาวไทยหันมาบริโภค “ข้าวกล้อง” จนส่งผลให้เป็นข้าวที่เพิ่มมูลค่าทันตาเห็น จากรับสั่งที่ว่า “ข้าวที่ออกมาเป็นสีลักษณะนี้เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเมล็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน” ซึ่งผลจากการวิจัยทางโภชนาการพบว่า ข้าวกล้องเป็นข้าวที่มีสีน้ำตาลอ่อน เพราะผ่านการกะเทาะเอาเปลือกออกเท่านั้น ไม่ได้สีเอารำและเยื่อหุ้มเมล็ดออก จึงยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพและต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ
         นอกจากจะทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาการผลิตข้าวด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงคำนวณเกี่ยวกับน้ำ และระบบชลประทานที่มีผลต่อการปลูกข้าว ทรงเห็นว่าการบริหารทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า คือ กุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกได้ อย่างยั่งยืน
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาญาณเล็งเห็นการณ์ไกลในเรื่องข้าว ก่อนนักวิชาการระดับโลกจะเคลื่อนไหวกันอย่างขมีขมัน โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2551 องค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาประกาศเรียกร้องประเทศที่ปลูกข้าว ให้หยุดการนำพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชพลังงานทดแทน เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารเลี้ยงพลเมืองของโลกในอนาคต โดยล่าสุดประเทศอินเดียและเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอันดับที่ 2 และ 3 รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้ระงับการส่งออกข้าวแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย ภารกิจการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูพลเมืองของโลกจะยังคงดำเนินต่อไป ด้วยผลผลิตที่มิได้ลดลงเหมือนประเทศผู้ส่งออกรายอื่น สิ่งที่เราต้องคิดกันต่อไปคือว่า เมื่อต้นทุนในการทำนาสูงขึ้นเรื่อยๆ การเพาะปลูกข้าวจะทำแบบเดิมคงไม่ได้อีกแล้ว ในฐานะที่เป็นครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และหลายคนก็เป็นลูกชาวนา เราจะมีส่วนแบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่านและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยได้อย่างไร ฝากเป็นคำถามให้ “ครูลูกชาวนา” ได้ช่วยหาทางออกให้กับประเทศ

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 4 เขียนโดย นิราวรรณ   อนันตสุข ศูนย์ TROFECT คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพประกอบจาก : ปกวารสาร สควค. ฉบับที่ 7 [บรรณาธิการโดย ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข]



Leave a Comment