การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ [การเรียนรู้สไตล์เด็ก LD]

children-LDพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 หมวดที่ 1 มาตรา 5 กล่าวว่า  “ คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการตลอดชีวิต มีสิทธิเลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบทางการศึกษา ตามความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น และได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดการหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษา ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล ”

คนพิการคือคนที่ร่างกายไม่สมประกอบใช่หรือไม่ ?
ท่านทราบหรือไม่ว่าในชั้นเรียนของท่านมีนักเรียนที่มองภายนอกแล้วดูเหมือนว่าเขาปกติดี ไม่มีปัญหาทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญาแต่อย่างใด แต่มีนักเรียนแบบนี้ไหม ? เรียนรู้ได้ช้า มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจ มีปัญหาทางด้านการฟัง อาจเป็นภาษาพูดและ/หรือ ภาษาเขียน  ซึ่งมีผลทำให้มีปัญหาในการฟัง การพูด การอ่าน การคิด การเขียน และการสะกดคำหรือการคิดคำนวณ  รวมทั้งสภาพความบกพร่องในการรับรู้ ลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นความพิการประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า บุคคลที่มีปัญหาหรือบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาให้คนพิการได้รับสิทธิช่วยเหลือทางการศึกษา พ.ศ. 2548

เราจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนเหล่านี้อย่างไร ?
นักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ มักมีปัญหาทางการการใช้ภาษา การคิดคำนวณ การวิเคราะห์ และการเชื่อมโยงความรู้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะต้องใช้ทักษะการคิดคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้  ดังนั้น การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก LD คุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป และให้นักเรียนเรียนร่วมกับนักเรียนปกติได้ทุกอย่าง เพียงแต่คุณครูต้องติดตามดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด

หากมีการทดลอง และนักเรียนอ่านวิธีการทดลองไม่ได้ คุณครูต้องอ่านให้ฟังหรืออธิบายให้ฟังอย่างละเอียด หาวิธีการสื่อสารที่ทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายที่สุด และที่สำคัญคือการวัดและประเมินผลจะต้องหลากหลาย และเหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ถ้านักเรียนเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่คล่อง คุณครูก็เลี่ยงวิธีการวัดผลที่ต้องใช้การเขียน โดยเปลี่ยนมาเป็นการสัมภาษณ์แทน และเกณฑ์การวัดและประเมินผลก็ต้องปรับลดลง กว่าเกณฑ์นักเรียนปกติ

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก LD เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับคุณครูหรือไม่ ? ควรแยกนักเรียนเหล่านี้ออกจาก  ชั้นเรียนปกติแล้วจัดการศึกษาเฉพาะจะดีกว่าไหม ?
แน่นอนคุณครูอาจมีคำถามลักษณะนี้อีกมากมาย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากให้คุณครูเลือกได้คุณครูคงไม่อยากเป็นคนที่บกพร่องและมีปัญหาทางการเรียนรู้ใช่หรือไม่ นักเรียนก็เช่นกันเขาไม่อยากเป็นคนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หากเลือกได้เขาคงไม่อยากเป็นคนที่บกพร่องหรือพิการ ทุกคนอยากเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง  แต่ในเมื่อมีนักเรียนที่มีปัญหาเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งไม่ใช่หรือที่คุณครู ซึ่งเป็นผู้ที่ให้แสงสว่างนำทางให้กับนักเรียน ให้โอกาสในการเรียนรู้ เป็นผู้ขจัดความโง่เขลา เบาปัญญา ถือเป็นผู้ที่มีภาระอันหนักอึ้งในการพัฒนาการศึกษาให้กับนักเรียน  ดังนั้น นักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้สามารถพัฒนาได้ หากได้รับการจัดการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเขา  

หากคุณครูสังเกตนักเรียนในชั้นเรียนของคุณครูให้ดี อาจพบว่ามีนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ รอให้คุณครูหยิบยื่นโอกาสในการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเขาให้ดีขึ้น ก็อาจเป็นได้

LD-teacher-workshopที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 6 เขียนโดย ครูอัญชลี   ดวงขยาย  สควค.รุ่น 6 ครู ร.ร.ขุนควรวิทยาคม จ.พะเยา
ภาพประกอบจาก : http://www.synphaet.co.th/synphaet2008/images/synphaet%208-2/page%2011.jpg



Leave a Comment