เทคนิคการสอนแบบ Math League วิธีการสอนคณิตศาสตร์ใหม่ ด้วยรูปแบบ Math League

math-league

ในสังคมปัจจุบันวิชาคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อยุคที่เทคโนโลยีและวิทยาการในด้านต่างๆ กำลังเจริญก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะคณิตศาสตร์ เป็นเครื่องมือนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำหรับการวิจัยทุกประเภท นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังช่วยพัฒนาความคิดของผู้เรียนให้สามารถคิดอย่างมีระบบ มีเหตุผล และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา เด็กนักเรียนเบื่อหน่ายไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ผู้เขียนจึงคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา และพัฒนาในระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่รับผิดชอบ โดยเริ่มจากการสำรวจและศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไข และพัฒนาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ต่อไป ซึ่งจากการใช้แบบสำรวจ แบบสอบถาม และจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่รับผิดชอบ พบว่าสาเหตุที่ทำให้นักเรียนของโรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เบื่อหน่าย มาสนใจเรียน มาจากสาเหตุ 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า โดยส่วนใหญ่ครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์มักใช้การสอนแบบบรรยาย กิจกรรมไม่หลากหลาย นอกจากนี้มักให้แบบฝึกหัดแก่นักเรียนครั้งละมากๆ โดยคิดว่าวิชาคณิตศาสตร์ ถ้าได้ฝึกมากๆ ก็จะทำให้เก่งได้ โดยไม่ได้คิดเลยว่านักเรียนจะเข้าใจในการเรียนหรือไม่ จะทำแบบฝึกหัดได้หรือไม่ หรือการบ้านวิชาอื่นๆ จะมากน้อยแค่ไหน
  1. ด้านเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ และกระบวนการวัด/ประเมินผล จะพบว่าโดยธรรมชาติวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหาค่อนข้างมาก และเป็นนามธรรม จะเห็นได้ชัดมรช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-ม.6) ต้องใช้จินตนาการ และความตั้งใจในการเรียนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่บังคับโดยเนื้อหา ซึ่งถ้าเริ่มต้นไม่เข้าใจ ยิ่งเรียนไปก็ยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้น แล้วในส่วนของการประเมินผล เช่นการสอบ entrance ก็เน้นให้นักเรียนทำข้อสอบมากกว่าทักษะกระบวนการ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนหันไปพึ่งสถาบันกวดวิชา เพื่อหาสูตรลัดในการทำข้อสอบหรือเดาข้อสอบ โดยขาดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  1. ด้านตัวนักเรียน ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นต้องการความท้าทาย การแข่งขัน ชิงรางวัล ชอบทำงานร่วมกับเพื่อนเป็นกลุ่ม นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่ ต้องการให้มีเสียงดนตรีประกอบการเรียน เพื่อผ่อนคลายและทำกิจกรรมสนุกๆ เช่น การเล่นเกมมากกว่านั่งฟังเพียงอย่างเดียว

จากการวิเคราะห์ถึงความต้องการของนักเรียนให้สอดคล้องกับสภาพของบริบทของปัญหาที่เป็นอบยู่จะเห็นว่า การเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจ ตั้งใจ การคิดวิเคราะห์ ด้วยตนเอง ภายใต้กิจกรรมหรือเกมการแข่งขัน เป็นกลุ่มที่ท้าทายความสามารถและสนุกสนาน น่าจะทำให้นักเรียนมีความสนใจเรียนมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์และเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ควรจะสูงกว่าที่ครูเป็นผู้ยื่นความรู้ให้เพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการสอนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และพัฒนาการการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่า “เทคนิคการสอนแบบ Math League” ควบคู่กับการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อดูผลที่ได้จากการใช้วิธีดังกล่าว ว่าจะแก้ไขปัญหาและพัฒนานักเรียนได้ดีขึ้นจริงหรือไม่

รูปแบบการใช้เทคนิค Math League ประกอบการเรียนการสอนนั้น เป็นเทคนิคที่สอดแทรกอยู่ในส่วนของกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้นั้นหมายความว่า จะไม่กระทบต่อแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งครูผู้สอนสามารถใช่สื่อการสอนและสอนเนื้อหาสาระได้ตามที่คาดหวังในหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งเทคนิค Math League นั้นชื่อ Math หมายถึงคณิตศาสตร์ ส่วนคำว่า League ก็คือ League การแข่งขันที่มีการจัดอันดับตารางคล้ายๆ กับการแข่งขัน League ทางฟุตบอล ที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น พรีเมียร์ League ของประเทศอังกฤษ บุนเดสลิก้า ของประเทศเยอรมัน Thailand League ของประเทศไทย เป็นต้น เพียงแต่ Math League เป็น League แข่งขันทางการศึกษาเท่านั้นเอง ซึ่งในการจัดทีม ก็จะประกอบด้วยนักเรียน ทีมละ 4-6 คน โดยใช้แบบสอบก่อนเรียนในการจัดทีมตามอัตราส่วนของนักเรียนกลุ่มเก่ง 1 ส่วน : กลุ่มปานกลาง 2 ส่วน : กลุ่มอ่อน 1 ส่วน และให้แต่ละทีมเลือกกัปตันทีม 1คน พร้อมทั้งหาโค้ชประจำทีม ซึ่งจะเป็นครูในรายวิชาหรือครูท่านใดก็ได้ภายในโรงเรียน ที่ทางทีมของนักเรียนเห็นว่าจะให้คำปรึกษาได้

ในการจัดกิจกรรมการเรียนถ้ามีงานหรือกิจกรรมใดนอกเหนือจากการแข่งขันที่ทำเป็นกลุ่มก็จะให้นักเรียนทำงานตามทีมที่จัดไว้นี้เพื่อฝึกให้นักเรียนช่วยเหลือการทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจะมีกัปตันทีมเป็นผู้กำกับ และวางแผนในการดำเนินงานต่างๆ ในทีม โดยในชั่วโมงแรกของการเรียน ครูจะแจ้งให้แต่ละทีมทราบถึงรางวัล (สิ่งกระตุ้น) หรือสิ่งที่นักเรียนจะได้รับหลังการแข่งขัน Math League จบในแต่ละภาคเรียน เพราะอย่างที่ทั่วไปทราบกันเป็นอย่างดีว่า ถ้าให้นักเรียนแข่งขั้นแล้วประเมินในรายชั่วโมงเท่านั้น ก็จะทำให้นักเรียนไม่สนใจกระตุ้นการเรียนรู้ได้ไม่มาก แต่สิ่งที่นักเรียนจะได้รับหลักจากสิ้นภาคเรียนจะนำคะแนนที่เป็นบวกของแต่ละทีมมาคิดเป็น 40% ของคะแนนจริง แต่ไม่เกิน 20 คะแนน เพื่อนำไปคิดเป็นเกรดของนักเรียนแต่ละคนในทีม ซึ่งจะไม่มีการหารหรือลดทอนคะแนนแต่อย่างใด เช่น ทีม ก. ทำคะแนนในตารางได้ 35 คะแนน ทำ 40% คือ 14 คะแนน ไปใส่ให้นักเรียนแต่ละคนในทีม ก. เพื่อไปรวมกับคะแนนในส่วนอื่นๆ แล้วคิดออกมาเป็นเกรด นั้นคือจากคะแนน 100 คะแนน นักเรียนในทีม ก. มี 14 คะแนน เหลืออีก 86 คะแนน ที่เกิดจากการเรียนปกติ ซึ่งจะกระตุ้นให้นักเรียนตั้งใจเรียนละร่วมกิจกรรมได้ดีขึ้น เพื่อจะได้เกรดที่สูงขึ้นในรายวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนทีมที่มีคะแนนติดลบ ก็จะคิดเป็น 0 คะแนน หมดทุกคนในทีม ซึ่งไม่มีผลต่อการคิดเกรดในรายวิชาคณิตศาสตร์ ทุกคนยังมีคะแนนเต็ม 100 คะแนนจากการเรียนปกติ ตรงนี้เองที่จะทำให้นักเรียนทั้งเก่งและอ่อน กล้าที่จะแสดงออก ร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตัวนักเรียนได้โดยไม่ต้องกังวลใจอะไรทั้งสิ้น

สำหรับการใช้นักเรียน Math League นั้น เมื่อถึงขั้นขั้นฝึกทำโจทย์ หรือแบบฝึกหัดทางคณิตศาสตร์ แจะให้นักเรียนแต่ละทีม ทบทวนสาระ ทำได้เรียนรู้มาในต้นชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวแข่งขันประมาณ 5 นาที หลังจากนั้น ให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลม โดยกำหนดว่า นักเรียนในทีมเดียวกันห้ามนั่งติดกัน และเมื่อเพลงดังขึ้นให้ส่งปากกาเคมี 2 ด้าม ไปรอบๆ วง ถ้าเสียงนกหวีดดัง เพลงหยุด แล้วปากกาเคมีอยู่ที่ใครคนนั่นเป็นคนที่หยิบโจทย์ที่ครูเตรียมไว้เพื่อจะทำโจทย์ดังกล่าว ซึ่งต้องฟังคำสั่งจากคนที่หยิบแผ่นคำสั่งในแต่ละครั้งก่อนปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น คำสั่งให้คนที่อยู่ด้านซ้ายของคนที่มีโจทย์ออกมาทำโจทย์ข้อนี้ เป็นต้น ในบางครั้งอาจจะมีการส่งปากกาเคมีถึง 3 ด้าม โดยกำหนดว่า ด้ามที่ 1 เป็นโจทย์ ด้ามที่ 2 เป็นคำสั่ง ด้ามที่ 3 เป็นคำขอร้อง (เป็นสิ่งที่ครูใส่เข้าไปเพื่อความสนุกสนาน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้) หลังจากที่โจทย์ซึ่งเป็นโจทย์แบบอัตนัย เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์เสร็จ ถ้าทำโจทย์ได้ถูกต้องชัดเจน จะได้ +1 คะแนน ถ้าทำโจทย์ผิด หรืออธิบายวิธีการหรือการได้คำตอบมาไม่ชัดเจน จะได้ -1 คะแนน ซึ่งจะได้คะแนนเท่ากันทุกคนในทีม นอกจากนี้ในโจทย์บางข้อ นักเรียนกับกรรมการ (ครูผู้สอน) สามารถต่อรองคะแนนกันได้ตามความเหมาะสมของโจทย์ เช่น ข้อนี้นักเรียนมองว่ายาก ถ้าทำถูกขอคะแนน +2 คะแนน ถ้าทำผิดก็จะได้ -2 คะแนน เช่นกัน ในระหว่างดำเนินการแข่งขั้น Math League ถ้ามีการทำผิดกฎ เช่น ส่งปากกาเคมีช้า ถ่วงเวลา เพราะว่าเป็นนักเรียนที่เก่งอยากจะออกมาทำโจทย์เอง ช่วยบอกคำตอบแก่เพื่อนที่ออกมาทำโจทย์ คุยเสียงดัง หรือรบกวนผู้อื่น กรรมการสามารถให้ใบเหลือง ใบแดงได้ โดยกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นใบเหลือง จะถูกตัดคะแนนทีมละ -1 คะแนน ถ้าเป็นใบแดง จะถูกตัดคะแนนทีมละ -2 คะแนน นอกจากนี้หากทีมใด ได้รับใบเหลือง 2 ครั้งในการแข่งขันที่ติดต่อกันหรือได้รับใบแดง จะส่งผลให้การแข่งขันในครั้งต่อไปทีมดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์การแข่งขัน (ถูกแบน) 1 ครั้ง

หลังจากแข่งขันเสร็จแต่ละครั้ง (แต่ละชั่วโมง) ให้กรรมการสรุปคะแนนลงตารางคะแนน Math League รวม เพื่อจัดเรียนอันดับทีมแล้วแจ้งให้นักเรียนทราบต่อไป และในรายวิชาเดียวกันของแต่ละห้องเรียนก็สามารถจัดลำดับโดยกำหนดให้ 2 อันดับสุดท้ายของตารางคะแนนตกชั้น ไปแข่งขัน Math League ในชั้นที่ต่ำกว่าตามลำดับคะแนนที่พร้อมทั้งนำ 2 อันดับสูงสุด ของชั้นที่มีคะแนนต่ำกว่าขึ้นมาแข่งขัน Math League แทน นอกจากนี้ในช่วงกลางของเนื้อหาหรือจบหน่วยการเรียนรู้ 1 หน่วย อาจจะให้แต่ละทีมจับฉลากเพื่อประกบคู่การแข่งขัน FA Cup โดยใช้เวลาว่างหรือช่วงพักกลางวัน ในการแข่งขันแบบเหย้า – เยือน เพื่อให้แต่ละทีมได้ช่วยกันเตรียมความพร้อม และทบทวนความรู้ก่อนการแข่งขันทุกครั้ง ซึ่งแต่ละทีมสามารถนัดให้โค้ชช่วยในการเตรียมความพร้อมของทีมได้

หลังจากทดลองใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวพบว่าสิ่งที่น่าสนใจ และจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การแก้ปัญหา และพัฒนานักเรียนได้อย่างแท้จริง โดยมีผลการวิจัยเป็นเครื่องยืนยัน ซึ่งผลจากการวิจัยดังกล่าวพบว่า เทคนิค Math League ช่วยทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้นตามศักยภาพของนักเรียน ยิ่งไปกว่านั้นวิธีการนี้ นอกจากจะพัฒนานักเรียนในด้านความรู้ความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์แล้ว ยังพัฒนาในด้านคุณลักษณะต่างๆ เช่น ความรับผิดชอบ การช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละ การทำงานเป็นทีม การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น

อนึ่ง เทคนิคการจัดการแข่งขัน Math League สามารถนำไปปรับปรุงใช้กับทุกวิชาเพราะเป็นรูปแบบของกิจกรรมที่จัดได้ง่าย อุปกรณ์ไม่มาก สถานที่อาจจะเป็นห้องเรียน หรือนอกห้องเรียนก็ได้ น่าสนใจ และตรงกับสภาพของนักเรียน สามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในหลายๆ ด้าน หลายๆ วิชา ไปพร้อมกันโดยเฉพาะวิชาสามัญ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์โดยรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ก็คงจะทำได้ไม่ยาก อาจจะเริ่มด้วยการประชุมครูในรายวิชาที่สนใจเข้าร่วม ในระดับชั้นเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “League วิชาการระดับชั้น….” ซึ่งในการจัดทีมของนักเรียนแต่ละห้องแทนที่จะใช้แบบทดสอบก่อนเรียน ก็ให้ดูจากเกราดเฉลี่ยในภาคเรียนที่ผ่านมาของนักเรียนแต่ละคน เพราะมีหลายวิชา นักเรียนมีความสามารถแต่ละวิชาแตกต่างกันก็น่าจะเป็นแนวทางที่จะปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ผลที่ได้รับมีคุณค่ามากสำหรับนักเรียน และการศึกษาในยุคปัจจุบัน

ท้ายสุดหวังว่าเทคนิค Math League จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ในยุคที่นักเรียนมีความสนใจในการเรียนต่ำลง ช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น นักเรียนที่เก่งก็จะเก่งมาก ส่วนนักเรียนที่อ่อนมากและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับผู้เรียนมากที่สุด และสอดรับกับความต้องการของสังคม ที่ต้องการให้นักเรียนในชั้นมัธยมปลาย มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ

ผู้เขียนบทความและเทคนิคการสอนแบบ Math League :  ครูวิสุทธิ์ คงกัลป์
ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2550
ลิงค์บทความ : [http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=11231&Key=news_research]



Leave a Comment