นวัตกรรมการเรียนรู้ การใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint ส่งเสริมการออกแบบจำลองการจัดดอกไม้

นวัตกรรมการเรียนรู้ของครู สควค. เรามีต้นแบบผลงานด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของ ครูสควค. นายอดิศร  อินทรสุวรรณ มานำเสนอต่อทุกท่าน ซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากโครงการ” Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2011″ ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ และเป็น 1 ใน 10 ตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการประชุมและนำเสนอผลงานเข้าประกวดระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในงาน “7th Asia Pacific Regional Innovative Education Forum 2011”  ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม 2554 จึงขอนำนวัตกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว มานำเสนอแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคน

adisorn2ชื่อผลงาน : การใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 จำลองการจัดดอกไม้บูรณาการการเรียนรู้ เทคโนโลยี คหกรรมและศิลปะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ : กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ช่วงชั้นที่ 3 รายวิชาสาระเพิ่มเติม ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2
วัตถุประสงค์ :
     1. เพื่อใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสร้างงานที่หลากหลาย พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
     2. เพื่อใช้โปรแกรมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด
     3. เพื่อสร้างบทเรียนในลักษณะเว็บเพจเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ไม่จำกัดสถานที่และเวลา

จุดเด่นของนวัตกรรม :
     1. การบูรณาการการเรียนรู้ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งทางด้านเทคโนโลยี คหกรรม และศิลปะ
     2. ประหยัดต้นทุนในการใช้โปรแกรมหลายชนิดเพราะองค์ประกอบทั้งหมดสามารถใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 เพียงโปรแกรมเดียว ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพสูงมาก ไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตก็สามารถสร้างองค์ประกอบที่สวยงามได้ ไม่ต้องไปคัดลอกใคร ชิ้นงานแต่ละชิ้นมีคุณค่าเปรียบเสมือนงานฝีมือที่ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ ซึ่งจริงแล้วอาจจะมีแค่เพียงชิ้นเดียวในโลก ชิ้นงานที่เกิดขึ้นหากนำไปสอนให้กับนักเรียนที่อยู่ตามชายขอบของประเทศที่มีอยู่หลายพันโรงของประเทศไทย หรือประเทศยากจนทั่วโลกสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความสวยงามของชิ้นงานได้เป็นอย่างดี และสามารถทดแทนโปรแกรม Adobe PhotoShop หรือ adobe illustrator ซึ่งเป็นโปรแกรมราคาแพงได้ในระดับหนึ่งทีเดียวถึงจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถทำให้โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเพียงแค่มองไปทางการสร้างงานนำเสนอเพียงอย่างเดียว
     3. นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เพราะต้นแบบที่นำมาใช้ประกอบการเรียนของนักเรียนในชั้นเรียนปกติ เกิดมาจากนักเรียนกลุ่มเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนช่วยกันพัฒนาขึ้นมา และนักเรียนในกลุ่มปกติสามารถนำต้นแบบมาศึกษาและดูเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนในกลุ่มที่เรียนในคาบเรียนปกติจะต้องปฏิบัติตามทั้งหมด เพียงแต่นำมาเป็นแนวทางในการศึกษาเรียนรู้ สาเหตุที่นักเรียนกลุ่มเรียนพิเศษสามารถสร้างผลงานได้หลากหลายเพราะเขาได้มาเรียนทุกวัน มีเวลาในการศึกษามากกว่าในชั้นเรียนปกติและนักเรียนในชนบทไม่ได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนกันทุกครอบครัว  แต่นักเรียนที่เรียนพิเศษส่วนใหญ่หลังเลิกเรียนจะมีคอมพิวเตอร์กันทุกคนซึ่งทำให้นักเรียนที่มาเรียนหลังเลิกเรียนสร้างผลงานได้ดี
     4. ข้าพเจ้าได้นำวิธีการดังกล่าวไปสอนนักเรียนระดับ ประถม ศึกษาปีที่ 4-6 ในโรงเรียนใกล้เคียงปรากฏว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีเช่นเดียวกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2

กลวิธีการสอน
ช่วงที่ 1 กิจกรรมการเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน
     1. สอนพื้นฐานการใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint ให้ครบทุกหัวข้อที่สำคัญโดยเฉพาะเครื่องมือการวาดรูปด้วยเส้น
     2. ครูมอบโจทย์ให้นักเรียนได้ทำงาน
     3. นักเรียนใช้เวลาช่วง 15.45-16.45 น.(ประมาณ 1 ชั่วโมง) ในการทำงาน
     4. ครูตรวจผลงานของนักเรียน (16.45-17.00 น.)
     5. นักเรียนนำงานที่ส่งครู กลับไปพัฒนาในช่วงเวลาเดิมในวันถัดไป ถ้าไม่เสร็จก็ให้นักเรียนทำในวันถัดไปอีก ถ้าเสร็จก็เริ่มงานใหม่ จนกระทั่งเรียนจบหน่วย

ช่วงที่ 2 กิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ
     1. ผู้สอนจะเน้นการทำกิจกรรมกลุ่มโดยการกำหนดโจทย์แล้วตั้งปัญหาให้นักเรียนร่วมกันคิดวิเคราะห์ โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าข้อมูล
     2. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันวิเคราะห์ผลงานของนักเรียนที่เรียนพิเศษหลังเลิกเรียน ให้นักเรียนรู้จักให้เหตุผลในงานแต่ละชิ้น รู้จักการวิจารณ์งานผู้อื่น ว่าดีหรือไม่ดีเพราะสาเหตุใด ให้ดูผลงานทั้งที่ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นงานที่ดีและงานที่ไม่ดีที่ได้จากนักเรียนที่เรียนพิเศษหลังเลิกเรียนก็สามารถนำมาเป็นต้นแบบสอนนักเรียนในคาบเรียนปกติได้ทั้งหมด
     3. ผู้สอนใช้วิธีการสอนแบบสาธิตเป็นกลุ่มย่อยเพื่อเน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจในขั้นตอนวิธีการทำได้อย่างถูกต้องเพราะในรายวิชาสาระเพิ่มในระดับ ม. 2 จะมีนักเรียน 20 คน อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 4-5 คน ผู้สอนจะอธิบายได้ง่ายและสามารถเข้าถึงพฤติกรรมของนักเรียนในแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น
     4. เน้นการเสริมแรงและให้กำลังใจนักเรียนทุกคนพร้อมกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กันไป นักเรียนบางคนเรียนรู้ได้เร็ว บางคนเรียนรู้ได้ช้า ใช้วิธีการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อสร้างสภาวะผู้นำให้กับนักเรียนและนักเรียนที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกำหนดก็จะต้องเสริมแรงในเรื่องของการให้กำลังใจ และให้เวลาในการทำชิ้นงานที่เพิ่มมากขึ้น
     5. เน้นการมีส่วนร่วมของผลงานของนักเรียนทุกคนและกล่าวถึงผลงานของนักเรียนทุกคนที่นำมารวมกันจัดเป็นช่อดอกไม้เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความสามารถและการยอมรับผู้อื่นในการทำงานร่วมกัน

ความคิดสร้างสรรค์ในการใช้เครื่องมือไอซีที
     1. ใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 เพื่อทดแทนโปรแกรมกราฟิกที่มีราคาแพงเพื่อวาดองค์ประกอบต่าง ๆ ของการจัดดอกไม้ กระถาง ดอกไม้แต่ละสายพันธุ์ หรือของตกแต่งแจกันดอกไม้อีกมากมาย
     2. ทำให้เกิดการเรียนที่หลากหลาย เช่น การจัดดอกไม้ซึ่งเป็นงานทางด้านคหกรรม มาประยุกต์สู่การเรียนรู้ร่วมกันกับงานทางด้านเทคโนโลยี และทางด้านศิลปะ

ความเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม
1. สร้างผลงานที่มีความแตกต่างโดยใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 ขยายผลไปสู่การแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด และระดับภาค
2. ขยายผลไปสู่โรงเรียนในเครือข่าย
3. เผยแพร่ผลงานแสดงการพัฒนางานในลักษณะของโครงงานนำเสนอ ในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม
4. สรุปผลงานที่ได้พัฒนาออกมาด้วยแนวคิดดังกล่าวในรูปของ Best Practice

ประโยชน์ที่ได้รับในการนำผลงานไปใช้
1. นักเรียนมีสมาธิเพิ่มมากขึ้นเพราะนักเรียนทุกคนจะตั้งใจเรียนเพื่อให้ภาระหน้าที่ของตนเองสำเร็จ
2. นักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกถึงจินตนาการของแต่ละคน สร้างองค์ประกอบออกมาแตกต่างกันแต่จุดมุ่งหมายปลายทางเดียวกัน คือ การจัดดอกไม้
3. นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกิจกรรมร่วมกับครูผู้สอนได้เลือกสิ่งที่นักเรียนต้องการให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน

ตัวอย่างการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ
การที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสร้างชิ้นงาน การจำลองการจัดดอกไม้ด้วยโปรแกรม Microsoft PowerPoint 2003 พบว่า ผลงานที่เกิดขึ้น มาจากความร่วมมือกันของนักเรียนหลายคน กล่าวคือ บางคนทำดอกไม้บางคนทำลำต้น บางคนทำกระถาง บางคนทำองค์ประกอบอย่างอื่น และสุดท้ายทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานและมีความภาคภูมิใจในงานของตน

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 17 หน้าที่ 6-7 เขียนโดย นายอดิศร   อินทรสุวรรณ ครู สควค.  ร.ร. ทุ่งสงวิทยา จ.นครศรีธรรมราช



Leave a Comment