การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ สอนวิชาชีววิทยาโดยใช้กระบวนการ “Mini project”

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์มีจุดมุ่งหมายสองส่วนคือ การเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และการเกิดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน  การทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวแก่นักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากต่อครูผู้สอน ในการนี้จึงขอนำเสนอเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “Mini project” ซึ่งเป็นเทคนิคที่คณะครูสาขาชีววิทยา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน  ผู้เขียนได้นำเทคนิคนี้มาใช้ประกอบการสอนเรื่อง เนื้อเยื่อพืช(Plant tissue) และพบว่ามีส่วนอย่างมากในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุตามจุดประสงค์ของเนื้อหาวิชา คือมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถจัดจำแนกลักษณะของเนื้อเยื่อพืชได้ อีกทั้งเทคนิคดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมนักเรียนในการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้เป็นอย่างดี การจัดกิจกรรมการสอนที่เรียกว่า Mini project มีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง ปูพื้นฐานความรู้   ครูผู้สอนให้ความรู้พื้นฐานแก่นักเรียน เรื่องชนิดและลักษณะของเนื้อเยื่อพืช ได้แก่ epidermis, parenchyma, collenchyma, sclerenchyma, endodermis,  xylem และ phloem รวมทั้งแนะนำวิธีการตัดเนื้อเยื่อพืชตามขวาง (Freehand cross-section) และการย้อมสีเนื้อเยื่อพืชด้วยสีย้อม Safranin O ซึ่งจะทำให้มองเห็นลักษณะของเนื้อเยื่อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ชัดเจนมากขึ้น

ขั้นที่สอง ชักนำสู่ Mini project ในขั้นตอนนี้ ครูผู้สอนใช้คำถามเพื่อชักนำไปสู่การทำ Mini project ตัวอย่างคำถาม เช่น
        – เนื้อเยื่อที่โครงสร้างเดียวกันแต่อยู่ในพืชต่างชนิดกันจะมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
        – พืชชนิดเดียวกันแต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างกัน ลักษณะของเนื้อเยื่อจะต่างกันหรือไม่?
        โดยคำถามเหล่านี้จะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้และอยากหาคำตอบด้วยตัวเอง จากนั้นครูผู้สอนมอบหมายให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม (กลุ่มละ 2-3 คน) ร่วมกันวางแผนว่ามีความสนใจจะทำ Mini project เรื่องอะไร มีแผนการดำเนินการหรือแผนการทดลองอย่างไร 

mini-projectขั้นที่สาม ลงมือปฏิบัติ   หลังจากนำเสนอแผนการดำเนินงานและได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอนแล้ว นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่คำตอบ  สำหรับหัวข้อ Mini-project ของนักเรียนที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มา ได้แก่
        – การศึกษาลักษณะของราก ลำต้น และใบ ของต้นโกสน ต้นเข็ม ต้นเอื้องทอง ต้นชะพลูและ ต้นหมอน้อย เป็นต้น ในขั้นตอนการปฏิบัติถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนเห็นเนื้อเยื่อของพืชที่ตนเองสนใจศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์แล้ว สามารถบอกได้หรือไม่ว่า เนื้อเยื่อชนิดนั้นคืออะไร มีลักษณะเด่นอย่างไร
        – ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของครูผู้สอนที่จะคอยชี้แนะให้นักเรียนได้เข้าใจ  และเป็นโอกาสที่ดีในการปลูกฝังการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เช่น การใช้กล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1- 3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ตลอดจนจำนวนชั่วโมงสอนของครูแต่ละคน

ขั้นที่สี่  เขียนรายงานและ นำเสนอผลงาน   นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องส่งรายงาน Mini project 1 ฉบับเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน และนำเสนอผลงานในรูปแบบการนำเสนอหน้าชั้นเรียน  หรืออาจนำเสนอในลักษณะของนิทรรศการ ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของโรงเรียน  ทั้งนี้ขึ้นกับช่วงเวลาและความเหมาะสม

ขั้นที่ห้า การวัดและประเมินผล  การวัดและประเมินผลการทำ Mini project มีน้ำหนักคะแนนประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของคะแนนรายวิชา โดยอาจใช้เกณฑ์อ้างอิงจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์คือ เริ่มเก็บคะแนนตั้งแต่การวางแผนงาน ระหว่างการดำเนินการและการนำเสนอผลงานซึ่งเป็นการวัดในส่วนที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์   ในส่วนขององค์ความรู้ ครูผู้สอนจะวัดจากความถูกต้องในรายงานของนักเรียน  การตอบคำถามระหว่างนำเสนอ และการใช้ข้อสอบเพื่อเป็นการวัดและประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียนทุกคนในภาพรวม

จะเห็นได้ว่า Mini project มีความแตกต่างจากการทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์(scientific project) เพราะ การทำ Mini project จะเน้นเฉพาะหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเป็นหลักและหัวข้อดังกล่าวครูผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเพื่อทำให้นักเรียนบรรลุตามจุดประสงค์ของการเรียนการสอน ส่วนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์หัวข้อมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน แต่อย่างไรก็ตามทั้ง Mini project และโครงงานทางวิทยาศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับในเรื่องของการฝึกทักษะกระบวนการ  ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งองค์ความรู้  ความน่าสนใจของ Mini project อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการการปูพื้นฐานการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน และหัวข้อ Mini project บางหัวข้อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ และอาจนำส่งเข้าประกวดในระดับประเทศได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนเพื่อนครูได้ลองนำเทคนิคการสอนที่เรียกว่า “Mini project” นี้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม หรือหากท่านใดมีเทคนิคการสอนใหม่ๆ ขอเชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่เว็บไซต์ www.krusmart.com ของเรานะครับ

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 7 หน้าที่ 8-9 เขียนโดย สมฤทัย  หอมชื่น และบัวหลวง ฝ้ายเยื่อ ครูวิชาการชีววิทยา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม



Leave a Comment