แบบจำลองการหาความลาดเอียงของพื้นที่ [การประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับสามเหลี่ยมคล้าย]

งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เป็น 1 ในกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยให้เยาวชนนั้นใกล้ชิดกับพืชพรรณไม้ เห็นคุณค่าประโยชน์ ความสวยงามอันก่อให้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์พรรณพืชต่อไป ซึ่งโรงเรียนที่ผ่านการประเมินสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จะได้รับป้ายพระราชทาน เกียรติบัตร 1 เกียรติบัตร 2 ตามลำดับ การจัดกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ของโรงเรียนโนนกอกวิทยา ก็มีการจัดกิจกรรมอยู่หลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546(ก่อนที่ผู้เขียนจะมาเป็นครูซะอีก) เช่น จัดชั่วโมงกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ตั้งเป็นกิจกรรมชุมนุม หรือบูรณาการในชั่วโมงเรียนของแต่ละสาระการเรียนรู้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา โรงเรียนโนนกอกวิทยาก็ผ่านการประเมินในระดับที่ 1 ได้รับป้ายพระราชทานงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพราะว่างานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนนี่แหละครับที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้เขียนได้คิดค้น คิดหาวิธีการจัดการเรียนรู้ ออกแบบการสอนและสร้างสื่อที่สามารถชักจูงผู้เรียนให้สนใจในสาระที่เรียนและงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จนกระทั่งสื่อและวิธีการจัดการเรียนรู้ไปโดนใจคณะกรรมการผู้มาประเมินกิจกรรม ให้เป็นผู้นำเสนอการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์บูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา ในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี : (การประชุมวิชาการและนิทรรศการ : ทรัพยากรไทยก้าวสู่โลกกว้างอย่างมั่นใจ) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ ศูนย์ฝึกหนองระเวียง มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ladnonkokสื่อที่ผู้เขียนสร้างขึ้น คือ แบบจำลองการหาความสูงของต้นไม้ โดยนำความรู้เกี่ยวกับสามเหลี่ยมคล้ายมาใช้ และ แบบจำลองการหาความลาดเอียงของพื้นที่ โดยนำความรู้เกี่ยวกับอัตราส่วนตรีโกณมิติมาใช้ ซึ่งทั้งสองชิ้นเป็นสื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อาจเป็นเพราะสื่อที่สร้างขึ้นนี้มีความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร(รึเปล่านะ)จึงเป็นที่สนใจของคณะกรรมการ และในการนำไปประกอบการจัดการเรียนรู้ก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนมากเป็นพิเศษ เพราะในแบบจำลองนั้นผู้เขียนได้วางสิ่งที่จะดึงดูดให้นักเรียนสนใจและมองดูที่เราคือ ตัวการ์ตูนที่นักเรียนและเราคุ้นเคยกันดี ซึ่งในที่นี้ผมเลือกใช้ “โงกุน” พระเอกในเรื่อง ดราก้อนบอล และกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ก็เหมือนๆ กับรูปแบบการสอนที่พวกเราหลายคนวางไว้ คือ พูดคุย ซักถาม นำเข้าสู่บทเรียน สาธิตการหาความสูง, ความลาดเอียง จากแบบจำลอง นักเรียนลงพื้นที่ทำใบงานโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม สรุปอภิปรายผล เสนอแนะ งานที่จะต้องทำในโอกาสต่อไป คือ การประเมินสื่อการเรียนรู้ทั้ง 2 ชิ้นนี้

ซึ่งในการหาความลาดเอียงของพื้นที่ โดยนำความรู้เกี่ยวกับอัตราส่วนตรีโกณมิติมาใช้ ผู้เขียนได้ทำวีดีโอวิธีการไว้ดังแสดงด้านล่างบทความนี้  ส่วนการหาความสูงของต้นไม้ โดยนำความรู้เกี่ยวกับสามเหลี่ยมคล้ายมาใช้ ก็ไว้โอกาสต่อไปนะครับ

บทความนี้เขียนโดย นางมังกร  โสส้มกบ ครู สควค. รุ่นที่ 8 โรงเรียนโนนกอกวิทยา เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555



Leave a Comment