นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จุดเน้น ศธ. ปี 2563 นโยบาย ศธ. ปี 2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

เพื่อให้การดำเนินการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ วัตถุประสงค์ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้

หลักการ
1.ให้ความสำคัญกับประเด็นคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือน และผู้บริหารทุกระดับ ตลอดจนสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต

2.บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการหลัก องค์การมหาชนในกำกับ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้มีความคล่องตัว รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ภูมิภาคให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้ เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามนโยบายประชารัฐ

ระดับก่อนอนุบาล
น้นประสานงานกับส่วนราชการ และชุมชน ในการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในด้านสุขภาพและโภชนาการ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนปกติ

ระดับอนุบาล
เน้นสร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อออกแบบกิจกรรมการพัฒนาทักษะที่สำคัญด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะความคิดความจำ ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการรู้จักและประเมินตนเอง

ระดับประถมศึกษา
มุ่งคำนึงถึงพหุปัญญาของผู้เรียนรายบุคคลที่หลากหลายตามศักยภาพ ด้วยจุดเน้นดังนี้
1.ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ทัศนคติที่ถูกต้องโดยใช้กระบวนการลูกเสือและยุวกาชาด
2.เรียนภาษาไทย เน้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น
3.เรียนภาษาอังกฤษและภาษาพื้นถิ่น (ภาษาแม่) เน้นเพื่อการสื่อสาร
4.เรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงหรือจากสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือปฏิบัติ และเปิดโลกทัศน์มุมมองร่วมกันของผู้เรียนและครูด้วยการจัดการเรียนการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น
5.สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
6.จัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน (Coding)
7.พัฒนาครูให้มีความชำนาญในการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)
8.จัดให้มีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยเน้นปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงเรียนให้เอื้อต่อการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ

ระดับมัธยมศึกษา
มุ่งต่อยอดระดับประถมศึกษา ด้วยจุดเน้นดังนี้
1.จัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (STEM) และภาษาต่างประเทศ (ภาษาที่สาม)
2.จัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างทักษะพื้นฐานที่เชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพและการมีงานทำ เช่น ทักษะด้านกีฬาที่สามารถพัฒนาไปสู่นักกีฬาอาชีพ ทักษะภาษาเพื่อเป็นมัคคุเทศก์

ระดับอาชีวศึกษา
มุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการเอง ด้วยจุดเน้นดังนี้

1.จัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ให้ผู้เรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
2.เรียนภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ
3.เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหาช่องทางในการสร้างอาชีพ
4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาค

การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
มุ่งสร้างโอกาสให้ประชาชนผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตร สามารถมีงานทำ ด้วยจุดเน้น ดังนี้

1.เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหาช่องทางในการสร้างอาชีพ
2.จัดทำหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
1.ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และวางแผนการใช้งบประมาณเป็นรายไตรมาส รวมทั้งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
2.จัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย
3.ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานทั้งระบบ เน้นการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
4.ปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดความคล่องตัว หากติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ให้ผู้บริหารระดับสูงร่วมหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน
5.ให้หน่วยงานระดับกรมกำหนดแผนงานสนับสนุนทรัพยากร งบประมาณ อัตรากำลัง ตามความต้องการจำเป็นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ภูมิภาค
6.ใช้กลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษา
7.เร่งทบทวน (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….โดยปรับปรุงสาระสำคัญให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
8.ในระดับพื้นที่หากเกิดปัญหาข้อติดขัดการปฏิบัติงาน ต้องศึกษา ตรวจสอบข้อมูล /ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนเด็กในพื้นที่น้อยลง ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบรวมโรงเรียน ให้พิจารณาสื่อสารอธิบายทำความเข้าใจที่ชัดเจนกับชุมชน
9.วางแผนการใช้อัตรากำลังครู โดยเฉพาะครูระดับอนุบาล และครูระดับอาชีวศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแผนการประเมินครูอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการพัฒนาครูให้มีองค์ความรู้และทักษะในด้านพหุปัญญาของผู้เรียน
10.ให้ศึกษาธิการจังหวัดจัดทำแผนการจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัดนำเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
11.ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และศึกษาธิการภาค มีบทบาทหน้าที่ตรวจราชการ ติดตาม ประเมินผลในระดับนโยบาย และจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

อนึ่ง สำหรับภารกิจของส่วนราชการหลักและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานตามปกติ (Function) งานในเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) และงานในเชิงพื้นที่ (Area) ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ก่อนนั้น หากรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสำคัญเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นอกเหนือจากที่กำหนด หากมีความสอดคล้องกับหลักการในข้างต้น ให้ถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งรัด กำกับ ติดตาม ตรวจสอบให้การดำเนินการเกิดผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ขอบคุณข้อมูล: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ. และ [ข่าวกระทรวงศึกษาธิการ]



Leave a Comment