[Patt_Curtin2] วิทยาศาสตร์ศึกษา สัปดาห์ที่ 2 ที่ Curtin University การพัฒนา multiplicative thinking

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 2 ของการมาอยู่ที่ Curtin University มีสิ่งที่ได้เรียนรู้มากมาย

1. สัปดาห์นี้ได้ส่งงานเขียนชิ้นแรกให้กับ Professor ที่มาทำงานด้วย เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเป็นครูมา 10 กว่าปี ห่างหายจากการโดนคนอื่นสอนมานาน ดีที่สุดก็เพียงแค่ได้รับ feedback เวลาส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสาร แต่การมาอยู่ที่นี่ ได้ทำงานกับอาจารย์ที่เก่ง เป็นเหมือนการได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านวิชาการและแนวทางการสอน อาจารย์ท่านก่อนจะเริ่มทำงานท่านจะถามความคิดเราก่อนว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ และหากจะต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรต้องเขียนอะไร จากนั้นก็จะแนะนำว่าเราควรอ่านอะไรเพิ่มบ้าง เมื่อเรามีชิ้นงาน ท่านก็จะให้ feedback อย่างตรงไปตรงมา ตรงมากจริง ๆ ข้อเสนอแนะในการเขียนครั้งนี้คือ เราขาดการใส่ความคิดเห็นเรื่องที่เขียน เพราะจะกลายเป็นว่าเราเพียงแต่ไปอ่านมาแล้วก็เอาความคิดคนอื่นมาใส่แต่ขาดการวิพากษ์ขาดการใส่ความคิดเห็นของเรา ซึ่งสำคัญมาก รวมถึงลำดับการเล่าเรื่องซึ่งอาจารย์บอกว่าเรายังเล่าเรื่องสลับไปมา ควรมีลำดับว่าควรกล่าวถึงอะไรก่อนหลัง จากนั้นอาจารย์ก็แนะนำให้อ่านเพิ่มโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง STEM ในประเทศไทยที่เรามีข้อมูลน้อยมาก

2. สัปดาห์นี้ colloquium หรือการสัมมนา เป็นอาจารย์จากสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา อาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา multiplicative thinking ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดย multiplicative thinking เป็นความสามารถในการคิดของนักเรียนเกี่ยวกับตัวเลข ไม่ว่าจะเป็น อัตราส่วน ทศนิยม เศษส่วน หรือ ร้อยละ โดยนักเรียนควรจะต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ สามารถ คูณ หรือ หารได้ นอกจากนั้นยังต้องนำเสนอความคิดของตนเองในหลากหลายรูปแบบได้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับ multiplicative thinking มาก่อนจึงถามอาจารย์ท่านว่าการที่จะมี multiplicative thinking ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการบวกมาก่อนไหม อาจารย์ท่านตอบว่าการบวกเพิ่มก็เป็นวิธีหนึ่งในการหาคำตอบ แต่ multiplicative thinking จะเน้นการส่งเสริมให้คิด เน้นที่ array ซึ่งน่าจะหมายถึงการจัดลำดับ เรียงลำดับ เช่น เด็ก ๆ ควรคิดได้ว่า ถ้ามี chocolate 3 ถุง ถุงละ 12 ชิ้น ตกลงมี chocolate ทั้งหมดกี่ชิ้น และมีวิธีคิดอย่างไร คิดได้กี่วิธี งานวิจัยนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นงานวิจัยระยะยาวตอนนี้ผ่านมาแล้ว 4 ปี และเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย 3 แห่งและในนิวซีแลนด์ 2 แห่ง สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำไปแล้วคือ การสร้าง Multiplicative Thinking Quiz ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว จากนั้นก็เป็นการไปสังเกตการสอนของครูในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วจึงไปสำรวจ multiplicative thinking ของนักเรียนโดยใช้ Quiz นี้พร้อมทั้งการสัมภาษณ์ ซึ่งในครั้งนี้ อาจารย์ท่านนี้ได้มานำเสนอผลการสำรวจที่พบว่านักเรียนโดยส่วนมากมีปัญหาในการคิดแบบนี้ และพบว่า ครูผู้สอนซึ่งส่วนมากจบการศึกษาในสาขาประถมศึกษา ไม่ได้จบคณิตศาสตร์มีผลอย่างมากในการเรียนรู้ของนักเรียน ในลำดับต่อไปของงานวิจัยจึงจะเป็นการพัฒนาครูเพื่อจะส่งเสริมให้ครูเป็น teachers as researchers เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน การสัมมนาในวันนี้เหล่านักคณิตศาสตร์ศึกษาก็ได้มาให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหาของเราคือไม่ค่อยจะรู้เรื่องว่าพูดอะไรกัน

3. ในสัปดาห์นี้จะขอนำเสนอห้องสมุดที่ Curtin university ห้องสมุดที่นี่มีหลายแห่ง แต่ที่เราไปอ่านหนังสือเป็นประจำคือ Robertson library ซึ่งถือเป็นห้องสมุดกลาง ห้องสมุดนี้เปิด 24 ชั่วโมง จุดที่น่าสนใจคือ ชั้น 5 ซึ่งมีหนังสือเกี่ยวกับการเรียนการสอน และส่วนที่เรียกว่าเป็น Teaching resource collection ที่มีสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนมากมาย ห้องสมุดที่นี่มีทั้งส่วนที่เป็นส่วนห้ามใช้เสียง ห้ามนำอาหารเข้า ส่วนที่เป็นห้องอ่านหนังสือปกติ มีห้องแยกที่เป็นส่วนตัวไว้ให้นิสิตประชุมกลุ่ม มีห้องศึกษาเดี่ยว มีส่วนนั่งพักผ่อนเป็นโซฟา หนังสือด้านการศึกษาที่นี่เยอะมาก แต่หากเป็นหลังปี 2010 หนังสือส่วนมากจะอยู่ในลักษณะ online แต่ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เพราะที่ห้องสมุดมีบริการคอมพิวเตอร์ไว้ให้จำนวนมาก และเป็นคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ไม่เก่า ไม่ช้า

ในห้องสมุดจะมีน้ำดื่มบริการ มี café ซึ่งมีทั้งอาหาร และ กาแฟขาย เราจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในห้องสมุดได้ทั้งวัน ดังนั้น หากไม่ได้อยู่ที่คณะ เราก็จะมาอยู่ที่ห้องสมุด นอกจากในห้องสมุดแล้ว บริเวณหน้าห้องสมุดก็มี เปลญวน และ bean bag (เบาะนิ่ม ๆ ) ไว้ให้นิสิตได้นั่งกลางแจ้ง บริเวณสนามหญ้า ซึ่งจะพบเห็นนิสิตมานั่งอ่านหนังสือ หรือนอนหลับกันอย่างสบาย

4. แถมท้ายด้วยดอกไม้สวยๆ แต่ไม่รู้ว่าดอกอะไร บางดอกมีคนบอกแล้ว แต่ชื่อยากมาก จำไม่ได้

ที่มา : https://web.facebook.com/pattamaporn.pimthong/posts/1893417887341231
หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากประสบการณ์และทัศนคติของผู้เขียน (อ.ดร.ปัฐมาภรณ์ พิมพ์ทอง) เท่านั้น และผู้เขียนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.krusmart.com หากบุคคลอื่นจะนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ให้ติดต่อและขออนุญาตผู้เขียนก่อนทุกครั้ง



Leave a Comment