มาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี [สาระสำคัญของมาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์]

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดและศักยภาพของบุคคลในด้านความมีเหตุผล ความมีระบบและเป็นระเบียบ  การสื่อสาร  การเลือกสรรสารสนเทศและการกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ปัญหา  ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของทุกคน  และยังเป็นเครื่องมือสร้างเสริมทักษะเพื่อการศึกษาในศาสตร์อื่น ๆ อีกด้วย

มาตรฐานครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้  ความคิด  ทักษะ กระบวนการเรียนรู้ เจตคติ  คุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับสังคมไทยและทัดเทียมกับนานาชาติ ประกอบด้วยมาตรฐานหลัก 10 มาตรฐาน  แบ่งเป็นมาตรฐานย่อย 40 ข้อ  และ 76 ตัวชี้บ่ง  ที่อยู่ในกรอบของคุณลักษณะ 3 ด้าน  คือ ความรู้  การแสดงออกและความสามารถ

สาระสำคัญของมาตรฐานครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีดังนี้

                มาตรฐานที่ 1   ธรรมชาติของวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าใจในธรรมชาติของวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยโครงสร้างเนื้อหาตามหลักสูตรและสาระความรู้ของวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แนวคิดด้านกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และการแก้ปัญหา  รวมทั้งสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้เนื้อหาวิชามีความหมายต่อผู้เรียน

                มาตรฐานที่ 2  การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีคุณธรรมและมีความสนใจใฝ่พัฒนาวิชาชีพของตนเอง ใช้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีคุณธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และการดำรงชีวิตโดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ  รวมทั้งเป็นผู้ที่ใฝ่หาโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง

                มาตรฐานที่ 3  การจัดโอกาสในการเรียนรู้ตามระดับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน เข้าใจถึงระดับการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนของผู้เรียน  จัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางสติปัญญา  สังคมและบุคลิกภาพ

                มาตรฐานที่ 4   การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความแตกต่างของผู้เรียน เข้าใจถึงความแตกต่างของผู้เรียนและใช้ความแตกต่างดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาโอกาสในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผู้เรียน

                มาตรฐานที่ 5  การใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมเพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เข้าใจและใช้วิธีการสอนอย่างหลากหลาย  เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความคิดด้านการวิเคราะห์วิจารณ์  การแก้ปัญหาและทักษะปฏิบัติ

                มาตรฐานที่ 6 การสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจ เข้าใจถึงแรงกระตุ้นและพฤติกรรมของผู้เรียนหรือกลุ่มของผู้เรียน  และสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของกาเรียนรู้ที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กันในทางบวก เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และแรงบันดาลใจ

                มาตรฐานที่ 7  พัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้โดยการสืบเสาะหาความรู้ มีทักษะการสื่อสารและสามารถใช้ภาษาอย่างถูกต้องทั้งการพูด  การเขียน  และการแสดงออก  ใช้วิธีการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้มีการสืบหาความรู้  การมีปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกัน

                มาตรฐานที่ 8 การพัฒนาหลักสูตร  สาระการเรียนรู้และการวางแผนการสอน พัฒนาหลักสูตรที่อยู่บนพื้นฐานของสาระและมาตรฐานการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ

                มาตรฐานที่ 9  การประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ใช้วิธีการประเมินผลตามสภาพจริงและนำผลการประเมินไปใช้เพื่อยืนยันถึงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องทั้งทางสติปัญญา  สังคม และร่างกาย

                มาตรฐานที่ 10  การนำชุมชนมาร่วมจัดการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ส่งเสริมความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในสถานศึกษา  ผู้ปกครอง  และองค์กรในชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

standard-scimath-teacherคณิตศาสตร์ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดและศักยภาพของบุคคลในด้านความมีเหตุผล ความมีระบบและเป็นระเบียบ มีแบบแผนสามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างการถี่ถ้วน รอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

มาตรฐานครูคณิตศาสตร์ มุ่งเน้นให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้  ความคิด  ทักษะ กระบวนการเรียนรู้ เจตคติ  คุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานที่สอดคล้องกับสังคมไทยและทัดเทียมกับนานาชาติ ประกอบด้วยมาตรฐานหลัก 10 มาตรฐาน  แบ่งเป็นมาตรฐานย่อย 37 ข้อ  และ 75 ตัวชี้บ่ง  ที่อยู่ในกรอบของคุณลักษณะ 3 ด้าน  คือ ความรู้  การแสดงออกและความสามารถ

สาระสำคัญของมาตรฐานครูคณิตศาสตร์ มีดังนี้

               มาตรฐานที่ 1 ธรรมชาติของวิชาคณิตศาสตร์ เข้าใจในธรรมชาติของวิชาคณิตศาสตร์ที่ประกอบด้วยโครงสร้างเนื้อหาตามหลักสูตรและสาระความรู้ของ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ แนวคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้เนื้อหาวิชามีความหมายต่อผู้เรียน

            มาตรฐานที่  2  การนำคณิตศาสตร์มาใช้อย่างมีคุณธรรมและมีความสนใจใฝ่พัฒนาวิชาชีพของตนเอง ใช้คณิตศาสตร์อย่างมีคุณธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและการดำรงชีวิตโดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งเป็นผู้ที่ใฝ่หาโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง

           มาตรฐานที่  3-10  มีรายละเอียดเดียวกับมาตรฐานครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         มาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำเสนอมานี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมาย ดังนี้
         1. เพื่อให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีได้มีแนวทางการพัฒนาตนเองและพัฒนางานให้เข้าสู่มาตรฐานสากล
         2. เพื่อให้สถานศึกษาได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความรู้  ความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด

         คุณครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ลองสำรวจตนเองดูสิครับว่า ตนเอง มีมาตรฐานครบ 10 ข้อหรือยัง ถ้ายัง…ต้องเร่งพัฒนาตนเองใหมีมาตรฐานตามรายละเอียดข้างต้นด้วยนะครับ

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 5 หน้าที่ 12-13 เขียนโดย นายว่องไว   ธุอินทร์ ครู สควค.รุ่น 6 ร.ร ศรีสุขวิทยา จ.สุรินทร์



Leave a Comment