การประเมินการรู้วิทยาศาสตร์ [Scientific literacy] กับการประเมินสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของ PISA

องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ได้เริ่มโครงการประเมินผลการจัดศึกษาของประเทศสมาชิก ภายใต้ชื่อโครงการ Programme for International Student Assessment หรือ PISA โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินว่านักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (เยาวชนอายุ 15 ปี) จะได้รับการเตรียมพร้อมความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต และมีส่วนร่วมสร้างสังคมได้หรือไม่ เพียงใด

จุดเด่นของ PISA ได้แก่ การประเมินที่มองไปถึงชีวิตในอนาคต ไม่ใช่การประเมินตามเนื้อหาในหลักสูตรที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการประเมินต่อเนื่อง โดยจำแนกเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี การสำรวจระยะแรก (ค.ศ. 2000) เน้นด้านการอ่าน ระยะที่สอง (ค.ศ. 2003 ) เน้นด้าน คณิตศาสตร์ และการแก้ปัญหา ส่วนระยะที่สาม (ค.ศ. 2006) เป็นการสำรวจด้านวิทยาศาสตร์

PISA2006 ได้กล่าวถึงปัญหาที่ใช้ในการที่จะระบุสิ่งที่ประชาชนควรรู้ คุณค่าและความสามารถในการกระทำในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นว่าไม่ได้หมายถึงการตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แต่ให้เป็นแนวทางโดยอ้างอิงถึงสิ่งที่ประชาชนต้องการ โดยมีกรอบในการสร้างแบบประเมิน ดังนี้
          1. ความรู้อะไรที่ประชาชนควรรู้อย่างเหมาะสม?
          2. อะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนต่อคุณค่าเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี?
          3. การให้ความสำคัญของแต่ละบุคคลเพื่อให้สามารถทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์คืออะไร?
          4. ประชาชนสามารถแยกแยะความแตกต่างการกล่าวอ้างเชิงวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?

การประเมินสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ของ PISA 2006 เป็นการประเมินเกี่ยวกับสาธารณูปโภคส่วนบุคคล ความรับผิดชอบต่อสังคมและคุณค่าภายในและภายนอกของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยประเมินทั้งด้านการคิดและคุณลักษณะของการรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียน 

PISA 2006 และ PISA 2009 ได้กำหนดกรอบโครงสร้างการประเมินผล โดยคณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของ PISA ตามนิยามของการรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific literacy) ที่ไม่เพียงหมายถึงความสามารถในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องมีความเข้าใจโลกธรรมชาติ (Natural world) และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อโลกธรรมชาติ “การรู้วิทยาศาสตร์” จึงมีการประเมินในประเด็นต่อไปนี้

 scientific-literacy               1.ด้านบริบท (Context) ตระหนักถึงสถานการณ์ในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่สถานการณ์หรือบริบท (Situations or contexts) เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ใน 3 ด้านหลัก คือวิทยาศาสตร์ในชีวิตและสุขภาพ วิทยาศาสตร์ในโลกและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ในเทคโนโลยี
               2. ด้านความรู้ (Knowledge) ความเข้าใจโลกธรรมชาติบนพื้นฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific knowledge) เป็นการเชื่อมโยงความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความรู้ของโลกธรรมชาติ (Knowledge of the natural world) และความรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติ (Knowledge about natural world)
               3. ความสามารถ (Competencies) ได้แก่ ความ สามารถดังต่อไปนี้ การระบุประเด็นทางวิทยาศาสตร์ (Identifying scientific issues) การอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์ (Explain phenomena scientifically) และการใช้ประจักษ์พยานทางวิทยาศาสตร์ (Using scientific evidence)
               4. เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ (Attitude toward science) ประกอบด้วย ความสนใจในวิทยาศาสตร์ การสนับสนุนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การที่จะบรรลุเป้าประสงค์ของการรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาได้นั้น ต้องทำให้นักเรียนเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 16 หน้าที่ 6 เขียนโดย ครูนิธิรัตน์   อาโยวงค์ (ณิชัชฌา   อาโยวงศ์) สควค.รุ่น 5 ครู ร.ร. มัธยมด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ภาพประกอบจาก : http://www.bubblews.com/assets/images/news/357232901_1398284701.jpg



Leave a Comment