นวัตกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ในวิชาเคมี ผ่านการสร้างหนังสั้น

นวัตกรรมการเรียนรู้ของครู สควค. เรามีต้นแบบผลงานด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของ นายธีระพงษ์  แสงสิทธิ์  (ครู สควค.) มานำเสนอต่อทุกท่าน ซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากโครงการ” Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2011″ ที่จัดโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ และเป็น 1 ใน 10 ตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการประชุมและนำเสนอผลงานเข้าประกวดระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในงาน “7th Asia Pacific Regional Innovative Education Forum 2011”  ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคม  2554 จึงขอนำนวัตกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว มานำเสนอแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคน

teerapongนวัตกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ในวิชาเคมี โดยการเรียนรู้ผ่านการสร้างหนังสั้น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการ Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2011มีรายละเอียด ดังนี้

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ วิชาเคมี เรื่อง ปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี
2. เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของนักเรียน
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถใช้ ICT เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง

จุดเด่นของนวัตกรรม
1. ส่งเสริมการคิดและการทำงานของสมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวา ให้ได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล
2. เป็น Active Learning โดยผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือกระทำ (Learning by Doing)
3. มีการบูรณาการเนื้อหาวิชาที่ค่อนข้างยากกับ ICT อย่างลงตัว
4. เป็นกลวิธีการสอนใหม่ที่นักเรียนไม่เคยทำมาก่อน และนักเรียนสามารถนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และสร้างองค์ความรู้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กระบวนการจัดการเรียนรู้
1. เมื่อเรียนเนื้อหาเสร็จแล้ว แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 4-5 คน ครูกำหนดภาระงานให้นักเรียน
2. นักเรียนเขียน story board ส่งครู เมื่อตรวจสอบ ครูมีคำแนะนำให้นักเรียน นำกลับไปแก้ไขปรับปรุง
3. นักเรียนสืบค้นข้อมูลภาพจาก www.google.com และสืบค้นคลิปวิดีโอและ Animation ต่างๆ จากwww.youtube.com
4. ดาวน์โหลดและแปลงไฟล์คลิปและ animation ด้วย flash video Downloader, Flash Capture, IDM, keepvid.com
5. ตัดต่อหนังสั้น ด้วยโปรแกรม VDO Maker และบันทึกเสียงด้วยโปรแกรม Sound recorder
6. นักเรียนนำเสนอผลงานโดยมีครูและเพื่อนร่วมชั้นร่วมประเมินผลงาน

ความคิดสร้างสรรค์ในการใช้เครื่องมือไอซีที
ผู้เรียนได้สังเคราะห์องค์ความรู้ในเนื้อหาวิชาเคมีและประยุกต์ใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ โดยนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มากมายบน Internet มาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ แล้วสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานประเภทสื่อภาพยนตร์ตามแบบฉบับของตนเอง ซึ่งผู้เรียนจะสามารถคิดและทำผลงานใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกเรื่อยๆ ครูสามารถตรวจสอบความเข้าใจในเนื้อหาวิชาและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้จากกระบวนการและตัวชิ้นงานที่นักเรียนสร้างขึ้น 

ความเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม
1. ผู้สอนได้ประยุกต์ใช้ ICTในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยกลวิธีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมี เพิ่มผลคะแนนการทดสอบระดับชาติ (O-NET) และพัฒนาผู้เรียนให้คิดเป็นทำเป็น
2. ผู้เรียนสามารถนำเอาประสบการณ์ด้าน ICT ไปใช้แสวง หาความรู้ในเนื้อหาวิชาเคมีหรือวิชาอื่นๆ ได้ และนักเรียนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ

ประโยชน์ที่ได้รับในการนำผลงานไปใช้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยา ศาสตร์ วิชาเคมี เรื่องปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี หลังเรียน (65 %) สูงกว่าก่อนเรียน (29.39 %) และสูงกว่าปีที่ผ่านมา
2. จากการประเมินชิ้นงานพบว่า นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับดีมาก (81.53 %)
3. จากการวัดเจตคติพบว่า นักเรียนมีเจตคติต่อการเรียนรู้อยู่ในระดับดีและดีมาก (89.60 %)
4. จากการสังเกตและสัมภาษณ์พบว่า นักเรียนตื่นตัวในการร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก เกิดความภาคภูมิในในผลงานมาก และนักเรียนหลายคนจะนำเอาประสบการณ์ในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆ

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 17 หน้าที่ 8 เขียนโดย นายธีระพงษ์  แสงสิทธิ์ ครู สควค. ร.ร.หนองนาคำวิทยา จ.ขอนแก่น



Leave a Comment