เรื่องสั้นสารคดี สืบค้นความดีที่แดนใต้ : ชายคลองที่รัก (ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง)

                   “ชายคลองที่รัก”   เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความผูกพันระหว่างนักเรียน ครูกับทรัพยากรป่าชายเลน  การใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนนอกห้องเรียน เพื่อชี้ให้เห็นความงดงามของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ท่ามกลางสถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยปลูกฝังให้นักเรียนสำนึกรักทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสั้นเรื่องนี้ ไปถูกตาต้องใจคุณหญิงกษมา   วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ สพฐ. ด้วย จึงได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในหลายๆเรื่องที่ถูกถ่ายทำเป็นสารคดี  “สืบค้นความดี ที่แดนใต้”  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อ 17 กันยายน 2551 เวลา 10.05-10.30 น. 

                 “ปาน้ะ….ปานะ  ร้อน….ร้อน  เพราะโลกร้อน หรือเหตุการณ์ร้อนๆรายรอบเนี่ย”

                “สู สู สิพาข่อยไปเที่ยวได้บ้อ เฮาสิย้าย ปิคบ้านเฮาแล้วเนอะ”

                “กี  กี … ไป ไป พายเรือ เดินป่า ดูนกกันดีกว่า ถือว่า เลี้ยงรับขวัญน้องเล็กสุด นะพี่นะ”

                เสียงสนทนา อย่างได้อรรถรส กันระหว่างอาหารมื้อเที่ยงของครูโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งในย่านนี้ ย่าน ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จังหวัดที่ ใครๆหลายๆคนได้ยินแล้วมักถูกถามเสมอว่า เป็นไง? ไม่กลัวหรือ? อันตรายไหม?และลงท้ายด้วย ใครล่ะเป็นคนทำ? รอยยิ้มและการส่ายหน้าด้วยความไม่รู้ผสมอาการงงงวยเช่นเดียวกัน คงเป็นคำตอบที่ข้าพเจ้าตอบได้ดีที่สุด ในภาวะการณ์อันคลุมเครือเช่นนี้

                จากความคิด ที่เสนอไปเพื่อการผ่อนคลาย บำรุงขวัญ และสร้างกำลังใจกันเองระหว่างเพื่อนครูรุ่นพี่รุ่นน้องที่เริ่มจะลดเลือน หายไป ท่ามกลางความร้อนรนหม่นหมอง ของสถานการณ์รอบข้างอันคลุมเครือ ชายคลองยามูมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่งตั้งอยู่ ที่นี่ แหละที่ที่น่าจะเหมาะสำหรับพาเพื่อนๆ พี่ๆ ไป อยู่ไม่ไกล ปลอดภัย แถมสบายใจ สบายกระเป๋า !!!แต่ทว่าหากมีไกด์ดีๆ สักคน สองคน น่าจะ…ดี ยังไม่สิ้นเสียงสะท้อนของความคิด

                “กรู กรู ไปเที่ยวบ้านผมสิ ผมจะยืมเรือพ่อพาครูเที่ยว ผมจะขับเรือให้นั่งเอง” เสียงซอและห์ และฮามิด คู่ซี้พี่สุด และแสนจะสุดซนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แทรกดังขึ้น ปลุกให้ฉันตื่น ตื่นจากความคิด… คิดถึงบรรยากาศของความประทับใจ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง ที่เดิมที่เคยประทับใจ 10 กว่าปีแล้วที่เคยมา ครูพามา น่าจะพออวดเพื่อนชาวอีสาน ที่ต้องย้ายกลับบ้านเพราะคำสั่งและความเป็นห่วงของทางครอบครัวอย่างกะทันหันได้

                “ผมเคยไปเที่ยวป่ายชายเลนที่พ่อผมทำงาน เขาร่วมมือกับศูนย์กีฬา นันทนาการและการท่องเที่ยวจังหวัด จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวหลายอย่าง ได้ลงหนังสือ อสท.ด้วย” ซอและห์เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

                เย็นของวันนั้นก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านเราเลยแวะไปบ้านของซอและห์ พ่อของซอและห์เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง และรับปากขับเรือพาเราเที่ยวแทนซอและห์ที่รับอาสา แต่คงไม่น่านั่งซะเท่าไหร่

                เจ็ดโมงเช้า วันเสาร์ที่เรารอคอยก็มาถึง สถานที่ที่นัดเจอ คือ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง เลยสะพานคลองยามูไปนิด “อาเยาะ”พ่อของซอและห์ กับอาหารมือเช้า ตระเตรียมไว้ไม่ให้เราได้ทันหิว กำลังรออยู่แล้ว พร้อมกับเสียงคุ้นหู เสียงซอและห์และฮามิดนั่นเอง กำลังทำตัวเป็นไกด์ที่ดี บอกถึงโปรแกรมของกิจกรรมวันนี้

                “เราจะพาคุณครู ทั้งหลายนั่งเรือเครื่อง ถึงซุ้มโค้ง อุโมงค์ต้นไม้ที่มีความร่มรื่น จากนั้นเราจะให้คุณครูออกแรงพายเรือคายัค ลำละ 2 คน ต่อด้วยการเดินป่าทำสปานวดฝ่าเท้า จากนั้นลงไปเก็บหอยอร่อยๆ กลับไปรับประทานกัน” โฮ่ วันนี้ลูกศิษย์เราพูดไพเราะมากกว่าทุกวันแฮะ คงเพราะความตั้งใจ ภาคภูมิใจ หรืออะไรกันที่ทำให้เขาพูดจาได้น่ารักน่าฟังขนาดนี้ ข้าพเจ้านึกในใจ

                เมื่อได้เวลาและสมาชิกมากันครบ ซอและห์และฮามิดก็เชิญ เราขึ้นเรือลงเรือเครื่องลำใหญ่กัน ทุกคนแสดงสีหน้าตื่นเต้นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คุ้นเคยอย่างไกด์น้อยของเราทั้งสองคน เอะ! แต่มีใครคนหนึ่งพี่โกสินทร์หนุ่มสุดสวยจากแดนอีสาน คนเดียวเท่านั้นเองทำหน้าซีดเผือด หรือว่าพี่ พี่เราจะเป็นลม !!!… เมื่อกระซิบถามไปก็ได้ความว่า ในชีวิตนี้พี่เขาไม่เคยลงเรือ พายเรือ หรือเกิดอาการกลัวน้ำ นั่นเอง 

                แต่ด้วยความเพลิดเพลิน ลมเย็นๆ สบายๆ ท่ามกลางการชมธรรมชาติ ตลอดระยะทาง นกนานาชนิด ลิงแสม ปลาตีน ปูก้ามดาบร่วมกันส่งเสียงประสานคล้ายเป็นเพลงกล่อม ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น  เราต่างก็เงียบสงบเพื่อเก็บตัวโน๊ตของทุกท่วงทำนองไว้ ไม่เว้นแม้แต่ซอและห์และฮามิด ที่สายตามองทอดออกไปยังสายน้ำ ป่าโกงกางสีเขียวผืนใหญ่ มีส่วนที่เป็นสีน้ำตาลคล้ายถูกไฟไหม้ในบางส่วน และนั่นจุดสีขาวๆก็แต่งแต้มไว้อย่างกลมกลืน เขาทั้งสองช่างสงบเยือกเย็น สงบลงอย่างไม่น่าเป็นไปได้           

 “ครูแทบไม่อยากเชื่อ เลย! ว่าสิ่งที่เห็นจะทำให้เด็กที่สนเหมือนลิง หรือยิ่งกว่าลิง สงบลงได้” เสียงแห่งความสงสัยในใจดังสะท้อนในใจ แต่แล้วสักพักสัญชาตญาตไกด์ในตัวฮามิดก็ปรากฏ

“ตอนนี้ป่าชายเลนยะหริ่งสมบูรณ์น้อยลง แต่เดิมมีการให้สัมปทานตัดไม้มาเผาถ่านด้วย ครูเห็นไหม้ ยังมีเตาเผาเก่า บนฝั่งอยู่ แต่ตอนนี้เลิกแล้ว ป่าน้อยลงปลูกทดแทนแต่ก็โตไม่ทัน” ฮามิดเล่า

“ทำไม ป่าบางช่วงถึงยืนต้นตายเป็นช่วงๆนะซอและห์?”ครูคนหนึ่งส่งเสียงถาม

“สิ่งธรรมชาติทำลายครับ ฟ้าผ่าครับ” คือคำตอบที่ได้

“แต่ก็คงไม่น่ากลัว เท่ากับมนุษย์เราใช้ เราทำลายหรอกจริงไหม”เสียงเศร้าๆของครูเสริมขึ้น

“ครูเห็นจุดสีขาวๆ บนต้นโกงกางไหม ลองยกกล้องส่องทางไกล ขึ้นดูสิครับท่าอยากรู้ว่าอะไร” เสียงไกด์น้อยชักชวน

“นกจริง นกปลอม อ่ะ ทำไมเกาะนิ่งจังไม่เห็นเคลื่อนไหวเลย”ครูแสดงความสงสัยออกมาคล้ายเด็กๆ

“นกจริงสิครับครู ครูส่องไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้ว่ามันบินได้” ซอและห์ตอบออกมาอย่างผู้รู้

“จริงด้วย เห็นไหม ตัวโน้น บินไปแล้ว สงสัยบินไปคุยกับนกสาวๆ นะซอและห์นะ”

“ก็มันหล่อนี่ครู สาวๆที่ไหนก็อยากจะคุยด้วย ผมกับฮามิดก็เข้าทำนองนี้เหมือนกัน” พูดจบเสียงหัวเราะครืนดังขึ้นกลบเสียงเครื่องยนต์ได้สนิท

ไกด์น้อยผู้เชี่ยวชาญคอยทำหน้าที่ของตนเองได้ดี เขาทั้งสองช่วยกันบรรยายให้เราฟังได้อย่างไม่รู้เบื่อ

บรรยายให้รู้แม้กระทั่งว่าการจีบกันของลิงแสม และปูก้ามดาบเป็นอย่างไร? สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น และดีขึ้นเป็นระยะท่ามกลางภวังค์ของความสงบและการดื่มด่ำความสุขที่เราได้พบเจอ … แล้ว เสียงเครื่องยนต์ก็เงียบลง เสียงอาเยาะดังขึ้น

“ถึงเวลาได้ออกแรงกันแล้วครับครู เดี๋ยวเราจะขับเรือใหญ่คอยเคียงไปนะครับไม่ต้องกลัว” เสียงนี้ทำให้เราตื่นจากภวังค์และต้องรีบเตรียมตัวตื่นเต้นกันอีกครั้ง เราต้องย้ายจากเรือเครื่องลำใหญ่ มั่นคงมาลงเรือคายัคลำเล็ก แล้วช่วยกันพายลำละ 2 คน ก็ช่วยเพิ่มสถิติคนหน้าซีดของสมาชิกครูได้อีกหลายคน เพราะไม่เคยจับไม้พาย พายเรือมาก่อนในชีวิต               

 “ลงมาเลยครับครู ครูขยับลงมานั่งเลยครับเดี๋ยวผมจับเรือไว้ให้”

“โอะ โอ้ย!!!  ทำไมเรือมันโคลง อย่างนี้อ่ะ ฮามิด”

“ครู รีบนั่งก่อนเลยครับ ยืนบนเรือแบบนี้มันจะโคลงและอาจล่มเปียกน้ำได้ครับ ลืมบอกไป”

“เฮา สิพายไปถึงได้ บ้อ”    “จะไหวกันไหม เนี่ยเรา” เสียงโอดครวญเมื่อได้เริ่มลงฝีพายกัน

“ครูคนข้างหลังคอยคุมทิศทาง แล้วก็จับไม้พายแบบนี้ครับ” ทั้งซอและห์ และฮามิดพยายามสอนและทำตัวอย่างให้ดูอย่างตั้งใจ

จากเสียงโวยวายตกใจ ก็ถูกแทนที่ด้วยเสียงหัวเราะอย่างน้ำหูน้ำตาไหล กลบเกลื่อนความตื่นเต้นและความกลัวกันระงม ยิ่งช่วงแรกของการพาย คู่ที่ไม่เคยพายเรือ หลายลำ พายวนไปวนมา อย่างกับเรือวนอยู่ในอ่าง ตามสำนวน ชวนให้เวียนหัวแทน แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้ทำให้เอนโดรฟินสารแห่งความสุขหลั่งมาแทนที่ความรู้สึกต่างๆอย่างรวดเร็ว ยิ่งได้เห็นวิว ทิวทัศน์แถบนี้สิ โอ้โห!!!

“ครู ครับตอนนี้เรากำลังเคลื่อนลำเรือของเราเข้าสู่อุโมงค์ธรรมชาติที่เขียวชอุ่ม ร่มรื่นสวยงาม และมีประโยชน์มากที่สุด ถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีอาหาร ไม่มีปลาให้เราได้ทานอย่างสมบูรณ์”

“จริงด้วยนะซอและห์  อย่างภาวะขาดแคลนอาหารตอนนี้ การลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญก็น่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งด้วย” “พ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อน เคยจับปู จับปลาได้มากกว่าตอนนี้ ตอนนี้ปลาน้อยลง” 

“เปาะจิแม อีกะห์อีแก บูเละบาเยาะเดาะห์”(ลุงแมจับปลาได้เยอะไหม?) เสียงทักทายลุงที่ฮามิดรู้จัก กำลังวางอวนหาสัตว์น้ำบริเวณใกล้เคียง

เราพายเรือชมป่าโกงกางที่แหวกงอกจนเป็นซุ้มโค้งอุโมงค์ธรรมชาติขนาดใหญ่ ยิ่งพายเข้าไปยิ่งร่มรื่น จนมาถึงพื้นดินบางตอนที่สามารถขึ้นไปได้ ไกด์น้อยก็บอกแกมบังคับให้คณะเราถอดรองเท้า รอรับบริการจากการนวดเท้าเข้าสปาธรรมชาติด้วยการย่ำเท้าลงบนรากของต้นโกงกางที่ปรับตัวผุดขึ้นมารับอากาศหายใจในการดำรงชีวิตซอและห์และฮามิดเดินขึ้นก่อนใครพร้อมกับการชักชวนให้เราเก็บหอยกาบที่อยู่ในโคลน ครูทำตามโดยไม่กลัวความเปรอะเปื้อน

“เฮ้ย …!! เพละ ฮือ มันลื่นอ่ะ” ครูสาวซึ่งได้ชื่อว่าตรงข้ามกับลักษณะของกุลสตรีเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ พลาดหล่นลงไปในโคลน ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงช่วยกันมาฉุด แต่หนักเหลือเกิน เพราะคนถูกฉุด หัวเราะขบขันตัวเองจนตัวสั่นตัวงอ ยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ฉุดยากขึ้น ความสนุกสนานครื้นเครงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนคุณหญิง คุณนายที่ห่วงสวยห่วง       งามอดใจไม่ได้ต้องลงมาแจมกับเรา เราเลยเก็บหอยได้ตั้งเยอะ

“หอยกาบเนี่ย ถ้าเราย่างสดๆ จิ้มน้ำจิ้มเผ็ดๆแล้วล่ะก็ ซือดะห์ อย่าบอกใครเลยครู” เสียงบรรยายของซอและห์ ชวนให้เราน้ำลายไหล ยกนาฬิกาขึ้นมาดู เกือบบ่ายโมงแล้ว เสียดายที่เราไม่ได้พกอุปกรณ์ปิ้งย่างติดเรือมาด้วย มื้อนี้ก่อนกลับเราเลยได้ทานข้าวกล่องคลุกเคล้าความเพลิดเพลิน ที่เตรียมมาและมาเตรียมอย่างเอร็ดอร่อย จนลืมเหนื่อยก่อนจะนั่งเรือเครื่องกลับกัน เราอยากเที่ยวกันต่อ แต่เราอยู่จนถึงเย็นไม่ได้หรอก ต่างคนต่างต้องแยกย้ายกันกลับอีก ค่ำๆไม่มีใครอยากเดินทางไปไหนต่อไหนหากไม่จำเป็นโดยเฉพาะคนต่างถิ่นอย่างพี่โกสินทร์

“ถ้าครูไม่กลัว ไม่รีบกลับบ้าน ผมจะพาครูนั่งเรือตอนกลางคืน ดูหิ่งห้อยบนต้นลำพูว่าสวยแค่ไหน”

“เสียดายที่ใครๆ ก็กลัวกลัวที่จะมาเที่ยวบ้านเรานะครับ จริงๆ ผมว่าไม่เห็นจะน่ากลัวอย่างที่คิดกันเลย ให้ผมไปอยู่ที่อื่นผมก็ไม่ไปหรอก ผมจะอยู่ที่นี่แหละ อยู่กับป่า อยู่กับบ้านของผม อยู่จนกว่าบ้านเราจะสงบ ไม่มีเหตุการณ์น่ากลัว จะรอพาครูและคนอื่นๆมาเที่ยวกันอีก” เสียงพูดจบลงทั้งซอและห์ ฮามิด และฉันก็ยิ้ม ยิ้มออกมาด้วยประกายในดวงตาและความหวัง

พวกเราทุกคนลืมเลือนความเครียดจากสถานการณ์รอบข้างที่บั่นทอนความหวัง และแรงใจกันได้ชั่วขณะ เป็นชั่วขณะที่ทำให้เราได้รับพลัง พลังจากความบริสุทธิ์ของธรรมชาติยามที่ไร้สิ่งแปะเปื้อนใดๆ โอ้นี่ช่างต่างจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้เหลือเกิน

  จากแดนดินถิ่นนี้เคยมีสุข

            ไร้รานรุกรุกรานวันวานหวาน

                        ก้าวย่างไกลด้วยใจสถิตงาม

                                      สุขทุกยามยามได้มองชายคลองสื่อ

                                         รักษ์แดนดินถิ่นนี้ที่แสนรัก

                           จะป้องปักรักษาด้วยสองมือ

             หากผู้ใดใจทรามหมายยึดยื้อ

  ขอร่วมมือร่วมใจไทยสู้ภัยพาล

ความรู้เพิ่มเติม : 

mangrove-forestศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง มีพื้นที่โครงการรวม 500 ไร่ ภายในศูนย์ฯ มีทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเป็นสะพานที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง (Hopea Odorata) เป็นระยะทางยาวโดยรอบ 1,250 เมตร ตลอดเส้นทางเดิน จะเห็นกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาและไม้พื้นล่าง ซึ่งพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีความสามารถขึ้นอยู่ได้ในบริเวณที่มีลักษณะแตกต่างกันโดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ระหว่างระดับน้ำทะเลต่ำสุดและระดับน้ำทะเลสูงสุดเช่น กลุ่มไม้ถั่วขาว กลุ่มไม้ตะบูนดำ กลุ่มไม้ตาตุ่มทะเล ฝาดดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกขาว เป็นต้น        

ตามเส้นทางจะมีระเบียงพักและมีซุ้มสื่อความหมายอธิบายเกี่ยวกับป่าชายเลนพร้อมมีรูปภาพประกอบและยังมีสะพานทางเดินไม้ยกระดับ ศาลาพักผ่อน และหอชมนก เพื่อชมทัศนียภาพเหนือยอดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนซึ่งหอนี้มีความสูงถึง 13 เมตร

นอกเหนือจากการเดินศึกษาป่าชายเลนตามเส้นทางเดินแล้วยังมีการล่องเรือชมป่าชายเลนซึ่งจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ฯ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมธรรมชาติป่าชายเลนตามลำคลองน้อยใหญ่ซึ่งแบ่งเป็น 3 สายคือคลองบางปู คลองกลาง คลองกอและ ตลอดสองฝั่งคลองจะเห็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ นกนานาชนิด วิถีชีวิตของชาวบ้านกับป่าชายเลนและความสวยงามของสวนป่าโกงกาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี โทร. 0 733 49146 ต่อ 4146

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 8 หน้าที่ 12-14 เขียนโดย ครูซะรีฟะอ์  อูมา ครู สควค.รุ่น 7 ครู ร.ร. สุวรรณไพบูลย์ จ.ปัตตานี
ภาพประกอบจาก : http://www.sadoodta.com/files/styles/pic600x250-upauto/public/cover-sadoodta_1449.jpg



Leave a Comment