บทเพลงแห่งการเรียนรู้ บทเพลงเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ บทเพลงเพื่อการเรียนรู้วิชาชีววิทยา

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
เป้าหมายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานควรให้มีความสอดคล้องให้เด็กได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นพื้นฐานการจัดการศึกษา เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้จริง (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2545) รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีหลากหลายวิธีทั้งนี้ที่สำคัญการจัดการเรียนรู้ต้องให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความรู้ที่ยั่งยืน

song-learningจากการวิเคราะห์ผู้เรียนในช่วงชั้นที่ 4 พบว่านักเรียนมีความสนใจในกิจกรรม ดนตรีและศิลปะซึ่งโรงเรียนก็มีลักษณะเด่นในด้านดนตรี จะเห็นได้จากการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งที่โรงเรียนได้เป็นตัวแทนเขตเข้าแข่งขันในระดับภูมิภาค และประเทศและเป็นที่สังเกตว่านักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมวงดนตรีเป็นนักเรียนที่เรียนในแผนวิทย์-คณิต ประมาณ 80 % และธรรมชาติของเด็กในวัยนี้จะชอบฟังเพลง และด้วยบริบทของรายวิชาชีววิทยา มีเนื้อหามากมายซึ่งอาจมีคำศัพท์ที่ยากแก่การจำดังนั้นการที่เปลี่ยนเนื้อหาที่มากมายเป็นบทเพลง จะทำให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาเนื้อหาในเรื่องความ หลากหลายของสิ่งมีชีวิต

2. เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
3. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ที่ยั่งยืน จากการสร้างองค์ความรู้ ด้วยตนเอง
4. เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข

นวัตกรรมเรื่องเพลงแห่งการเรียนรู้นี้ เป็นนวัตกรรมประกอบการสอนรายวิชาชีววิทยา(ว 40245) ซึ่งนำเนื้อหาที่ได้จากบทเรียนเรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และวิวัฒนาการมาเปลี่ยนเป็นบทเพลงซึ่งนักเรียนมีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อเพลงและเลือกทำนองเพลงเอง (ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง; Constructivism) 

จากนั้นนำเนื้อหาที่ได้ให้ครูผู้สอนรายชีววิทยาตรวจสอบ แล้วทำการตัดต่อวิดีโอในรูปแบบเพลงคาราโอเกะ โดยใช้โปรแกรมตัดต่อวีดีโอ Ulead VideoStudio 9
ซึ่งนักเรียนที่เรียนในรายวิชาชีววิทยา (ว 40245) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และวิวัฒนาการ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมวงดนตรีของโรงเรียนเพ็ญพิทยาคมและเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงวงดนตรีของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ

การนำไปใช้
          1. การศึกษาด้วยตนเองที่บ้านโดยฉายออกหน้าจอโทรทัศน์ผ่านเครื่องเล่นวีซีดี หรือ ดีวีดี ในการนี้นักเรียนสามารถรับชมผลงานของตนเองอย่างภาคภูมิใจพร้อมกับครอบครัวซึ่งจัดได้ว่าเป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว ผู้ปกครองจะได้ทราบถึงผลงานของนักเรียนและชื่นชมในตัวลูกที่มีความสามารถ

          2. นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้จากผลงานชิ้นนี้โดยการเปิดผ่านคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน สามารถทำการเรียนรู้เนื้อหาไปพร้อมกับการเปิดคาราโอเกะดูกับเพื่อน ๆ อย่างเพลิดเพลินได้ แม้กระทั่งนักเรียนรุ่นน้องที่ยังไม่ได้เรียนเนื้อหานี้ก็สามารถรับชมบทเพลงอย่างสนใจและเพลิเพลินได้ เป็นการสร้างเจตคติที่ดีต่อรายวิชามากยิ่งขึ้นด้วย
          3. ด้วยโครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้จัดให้มีการไปทัศนศึกษา และระหว่างการเดินทางนักเรียนต้องนั่งรถเป็นเวลานาน ในการนี้นักเรียนสามารถเปิดคาราโอเกะบทเพลงนี้แล้วร้องขับขานประสานเสียงกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและได้รับความรู้อย่างถ้วนหน้า
          4. บริบทของโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จะส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมวงดนตรีซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบของนักเรียนทั้งช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 ประกอบกับนักเรียนในวงดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดังนั้นนักเรียนเหล่านี้จึงได้มีโอกาสแสดงผลงานของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และนักเรียนรุ่นน้องก็รับฟังผลงานเพลงอย่างสนุกสนาน ได้สาระและสามารถร้องตามได้

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 16 หน้า 10 เขียนโดย ครูอณุสรา   พลหาร สควค.รุ่น 9 ครู โรงเรียน เพ็ญวิทยาคม จ.อุดรธานี
ภาพประกอบจาก : http://www.hindishows.com/images/kids-learning-songs.jpg



Leave a Comment