ครุวิจัยดาราศาสตร์ 2552 การสร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนครุวิจัย โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ

ตามที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้คัดเลือกและจัดส่งครู สควค. เข้าร่วมโครงการครุวิจัย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมโครงการครุวิจัย ดาราศาสตร์ รุ่นที่ 4 ของศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์(LESA) ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอดูดาวเกิดแก้ว จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 1-30  เมษายน 2552 โดยมีครูเข้าร่วมโครงการจำนวน 18 คน

astro-lesa-teamครุวิจัย ดาราศาสตร์ มีความแตกต่างจากครุวิจัยศูนย์อื่นๆ เพราะปีนี้ศูนย์ LESA เน้นการสร้างสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และอวกาศ (เนื่องในโอกาสปีดาราศาสตร์สากล) ข้าพเจ้า นางสาวกนกวรรณ  ทุมนัส ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการสร้างสื่อการเรียนรู้ และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อนำสื่อนั้นนั้นไปใช้จริง และได้นำความรู้ไปออกแบบและจัดทำสื่อประเภทภาพเคลื่อนไหว เรื่อง การเกิดฝนดาวตก มีความยาว 66 วินาที แสดงการเคลื่อนที่ของดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ได้ทิ้งเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กตามแนวเส้นทางโคจร ในแต่ละปีโลกจะโคจรผ่านบริเวณดังกล่าว เมื่อเศษฝุ่นเหล่านี้ผ่านเข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลก จะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศทำให้เกิดความร้อนและเผาไหม้เศษวัตถุนั้น ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ปรากฏให้เห็นเป็นเส้นสว่างสวยงามเป็นจำนวนมาก เราจึงเรียกว่า ฝนดาวตก (Meteor Shower) สื่อชุดนี้ใช้ประกอบการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิชา โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ในระดับชั้น ม.ปลาย ตามสาระมาตรฐานการเรียนรู้ที่ ว 7.1 หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 กำเนิดระบบสุริยะ

นายสิรวิชญ์   พรมแพน สควค.รุ่น 9 ร.ร.อากาศอำนวยศึกษา จ.สกลนคร ได้จัดทำสื่อการเรียนรู้ประเภทภาพเคลื่อนไหว เรื่อง ระยะทางการเดินทางของแสง ความยาว 2 นาที 33 วินาที แสดง ระยะทางที่แสงเดินทาง จากแหล่งกำเนิดแสงไปถึงปลายทางในหน่วยปีแสง เนื่องจากระยะห่างของวัตถุต่างๆ ในเอกภพอยู่ห่างไกลกันมาก ถ้าใช้หน่วยวัดเป็นเมตร หรือเป็นไมล์ ก็จะเป็นตัวเลขมหาศาล การจำและนำไปใช้งานยาก แต่ถ้าคิดเป็นหน่วยปีแสง ก็จะสะดวก และเข้าใจง่ายขึ้น

ปีแสงเป็นหน่วยการวัดระยะทางในทางดาราศาสตร์ ไม่ใช่หน่วยวัดเวลา โดย 1 ปีแสงเท่ากับระยะทางที่แสงเดินทาง ในเวลา 1 ปี จากอัตราเร็วแสงที่มีค่า 3 x 105 กิโลเมตร/วินาที โดยหนึ่งปีแสง มีค่าที่แน่นอนโดยใช้ตัวเลข ปีจูเลียน (365.25 วัน) มาคำนวณ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสหพันธ์ ดาราศาสตร์สากล คือ 9.4607 x 1012 กิโลเมตร ระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลกประมาณ 150,000,000 กิโลเมตร ระยะทางที่แสงเดินทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก 8.3 นาทีแสง

ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 800 ล้านกิโลเมตร ระยะทางที่แสงเดินทาง 45 นาทีแสง, ดาวพลูโต 6 พันล้านกิโลเมตร 5.5 ชั่วโมงแสง, เมฆออร์ท 7.5 ล้านล้านกิโลเมตร 5 เดือนแสง, ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือดาว “พร๊อกซิมา เซนทอรี” (Proxima Centauri) อยู่ห่างออกไป 40 ล้านล้านกิโลเมตร หรือ 4.2 ปีแสง เป็นต้น สื่อนี้ใช้ประกอบการสอนวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ระดับชั้น ม.ปลาย เรื่อง ตำแหน่งของโลกในอวกาศ

นายศักดิ์อนันต์  อนันตสุข สควค. รุ่น 6 ได้จัดทำสื่อการเรียนรู้ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ (โปสเตอร์) เรื่อง โบราณดาราศาสตร์และธรณีวิทยาจากปราสาทในจังหวัดสุรินทร์ ขนาด 21 x 30 นิ้ว นำเสนอข้อมูลปราสาทจำนวน 34 แห่งในจังหวัดสุรินทร์ ในเชิงวิทยาศาสตร์ สื่อชุดนี้ใช้ประกอบการสอนวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ เรื่อง ดาราศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีผลงานของครูครุวิจัยอีกรวมจำนวน 18 ชุด ผู้สนใจสามารถติดตามชมผลงานและกิจกรรมทางดาราศาสตร์ของศูนย์ LESA ได้ที่ www.lesa.in.th 

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 11 หน้าที่ 8 เขียนโดย ครูกนกวรรณ   ทุมนัส สควค.รุ่น 9  ครู ร.ร.คึมใหญ่วิทยา จ.อำนาจเจริญ



Leave a Comment