ครุวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จากการศึกษาการดำรงชีวิตของหอยเป๋าฮื้อไทย

abalone-research“ชีวิตคือ การใฝ่หา ชีวิตที่ขาดความใฝ่รู้คือ ชีวิตที่ตายแล้ว” จากคำกล่าวนี้ สอนให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราได้ลงมือ ลงแรง และได้ทำในสิ่งที่ต้องการ มันเป็นความคุ้มค่าที่เราในฐานะครูธรรมดาคนหนึ่ง ได้มีโอกาสสร้างสิ่งดีๆให้กับชีวิต

นักวิจัย นักวิชาการในความคิดของใครๆหลายคน คงไม่พ้น สวมแว่นหนาๆ อายุอานามก็มากพอดู แต่ถ้าได้มาสัมผัส ครุวิจัย วิทยาศาสตร์ทางทะเล ณ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ความคิดนั้นคงเปลี่ยนไป

สกว.เปิดโอกาสให้ครูอย่างเราได้แสดงศักยภาพของตนเองในการก้าวสู่ความเป็นนักวิชาการมีโอกาสได้เผยแผร่ความรู้ ขณะเดียวกันก็จะเป็นครูผู้สอนที่พัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1 เมษายน 2550 ณ ท่าเรือเกาะลอย ศรีราชา จ.ชลบุรี คลาคล่ำไป ด้วยคุณครูที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย กระเป๋าใบโต ใบแล้วใบเล่า ถูกลำเลียงลงสู่เรือโดยสาร แล้ว 26 ชีวิต ก็ได้มีโอกาส มาทำงานวิจัย ด้วยกัน ทุกคนตื่นเต้นกับสถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งใหม่ที่พวกเราทุกคนจะได้เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในช่วง 1 เดือนเต็ม จุดหมายของพวกเรา คือ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ที่เราจะตักตวงความรู้และประสบการณ์ดีๆ เพื่อนำไปพัฒนาศิษย์ของเรา ในหัวข้อวิจัย คือ “ศึกษาการดำรงชีวิตของหอยเป๋าฮื้อไทย (Haliotis asinina) เพื่อจัดทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน” ซึ่งในความคิดแรกดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเลโดยตรง ก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ 

โครงการครุวิจัย สกว. เป็นโครงการที่มากกว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาอย่างเข้มข้น ที่พวกเราเคยได้รับ แต่เป็นโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพของครูให้เรียนเรื่องการทำวิจัยโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูวิทยาศาสตร์เท่านั้น  ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ครบครัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะเกิดการพัฒนา ที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอด สร้างสรรค์เพื่อ ผู้เรียนอย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลา 1 เดือน เราไม่มีเวลาพัก มีตารางเวลางานงานที่เข้มข้นโดยตลอด ทุกคนต้องรับผิดชอบในงานของตนขณะเดียวกันพวกเราทุกคนก็ต้องช่วยเหลือกัน และด้วยความที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากกว่าคนอื่น (เพราะดูเหมือนว่าจะจบสาขาคอมพิวเตอร์มาเพียงคนเดียว) ก็ได้รับความไว้วางใจจาก ลุง ป้า น้า อา เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ให้ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีทุกประการ (เรียกได้ว่ารับแขกแบบหัวบันไดบ้านไม่แห้ง) ดึกดื่นเที่ยงคืนก็สามารถให้บริการได้  ซึ่งทุกๆ คนก็ให้ความรักความเอ็นดูมากเป็นพิเศษ เราทุกคนอยู่ด้วยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เราสนิทกันเร็วมาก การออกภาคสนามเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ มีกิจกรรมร่วมกับชาวเกาะ เรียนรู้วิถีชีวิตในบางมุมที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถสัมผัสได้ ร่วมประเพณีวัฒนธรรมที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่ของทุกปี  ชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นบันทึกหนึ่งของประวัติศาสตร์ เก็บบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงในสมุดบันทึกความทรงจำที่จะติดตัวไปจนวันตาย  มิตรภาพอันดีที่สามารถสร้างเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น สานความสัมพันธ์ เชื่อมโยงจิตใจให้ครูครุวิจัยที่มีปณิธานเดียวกัน พัฒนาการศึกษา พัฒนาอนาคตของชาติ 

อีกหนึ่งบัณฑิตจากโครงการ สควค. ที่ขอเป็นตัวแทนถ่ายทอดถึงความรู้สึก ในการรับทุนวิจัยในครั้งนี้ เราทุกคนจะก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต ขอบพระคุณ สสวท. ที่ได้ลงทุนปลูกต้นกล้าต้นนี้มา ขอบพระคุณ สกว. ที่เป็นปุ๋ยมาบำรุงให้เจริญงอกงาม ขอบพระคุณทุกแรงใจที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้ต้นนี้ ได้เติบโตแผ่ใบให้ร่มเงาเพื่อผู้อื่นต่อไป

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน 2550) หน้าที่ 9 เขียนโดย ครูปิยธันว์   เบญจเทพรัศมี สควค.รุ่น 6 ครู ร.ร.บ้านต้นผึ้ง จ.ลำพูน



Leave a Comment