ครุวิจัยดาราศาสตร์ การศึกษาและสร้างแบบจำลองของดาวแปรแสงลำดับที่ 19 ในกลุ่มดาวงู [ดาว AS Ser]

ผู้เขียนเรียนรู้เรื่องดวงดาวและอวกาศ ด้วยตนเองมาตั้งแต่เป็นเด็ก ป.4 แต่ด้วยความด้อยโอกาสของคนชนบท และการขาดแหล่งเรียนรู้ต่างๆ การเรียนรู้จึงมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อจบจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ม.ขอนแก่น ก็พอมีความรู้ติดตัวบ้าง จึงใช้วิชาดูดาว “หลอกเด็ก” ช่วงจัดค่ายและใช้สอนในโรงเรียนได้ แต่องค์ความรู้ก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร เมื่อ สกว. คัดเลือกให้ร่วมโครงการ “ครุวิจัย” เข้าทำวิจัยที่หอดูดาวเกิดแก้ว พร้อมครู 24 คนและนักเรียนยุววิจัย จำนวน 14 คน ที่มีคุณฐากูร  เกิดแก้ว ปรมาจารย์ทางดาราศาสตร์ ที่ข้าพเจ้าได้ทราบชื่อเสียงมานานและต้องการขอความรู้ เป็นเจ้าภาพ ข้าพเจ้าดีใจและยินดีเหมือนถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง

lesa-teacherสัปดาห์ที่ 1 ช่วยปูพื้นฐานและการใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และมิตรภาพจากเพื่อนผู้ร่วมวิจัย ช่วยย้อนเวลาไปสู่วันวัยของการเป็นนักศึกษา ที่พร้อมลุยทุกสถานการณ์

สัปดาห์ที่ 2 -3-4 เรียนรู้ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ วัฎจักรดาว ภาพถ่ายจากกล้อง ROTSE ฝึกใช้ซอฟแวร์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ จนมีความเชี่ยวชาญ รับหัวข้อวิจัย ดำเนินการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล เขียนรายงานวิจัยและนำเสนอผลงาน โดยคุณวิภู   รุโจปการ  ผู้แต่งหนังสือเอกภพ บินจากสหรัฐอเมริกามาให้ความรู้โดยตรง และนำอุกกาบาตจากยุโรปมาเป็นของที่ระลึกแก่ครุวิจัยศูนย์ LESA ทุกคนด้วย

ผู้เขียนทำวิจัย เรื่อง “การศึกษาการแปรแสงและการสร้างแบบจำลองของดาว AS Ser” ซึ่งเป็นดาวแปรแสงลำดับที่ 19 ในกลุ่มดาวงู ด้วยซอฟต์แวร์ TheSky, MaxIm DL และ Binary Maker เรียนรู้เรื่อง การศึกษาดาวเคราะห์น้อย ด้วยซอฟต์แวร์ ds9 จากเพื่อนครุวิจัย และเรียนรู้เรื่อง วัตถุในห้วงอวกาศลึก จากนักเรียนยุววิจัย ซึ่งทำให้ได้รู้ว่า ดาราศาสตร์มีอะไรมากกว่าการเรียนรู้เรื่อง  กลุ่มดาว และเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความเข้าใจ คนอื่นๆ ที่สนใจก็สามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายหากภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ไม่มีการสอนทำวิจัยทางดาราศาสตร์ในระดับปริญญาตรี

ผลจากการเข้าร่วมโครงการครุวิจัยดาราศาสตร์ ช่วยให้เกิดมุมมองต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาดังนี้
     1. เชื่อว่า “การวิจัย คือ การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศ” ซึ่งในฐานะครูวิทยาศาสตร์ ควรมีโอกาสทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ (ควบคู่กับการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้) และนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน
     2. เห็นว่า “ความแตกต่างระหว่างวัย ไม่ใช่อุปสรรคของการเรียนรู้” นักเรียนยุววิจัย จะมีประสบการณ์การใช้อุปกรณ์ ซอฟแวร์ใหม่ๆ และความรู้บางอย่างสูงกว่าครู ซึ่งมีบทบาทช่วยครูเรียนรู้ได้มาก และตัวของครูเอง ก็ควรได้เห็นว่า เราควรสอนลูกของเรา หรือนักเรียนของเราให้โตเป็นเด็กที่มีคุณภาพเหมือนเขาเหล่านี้
     3. ประเทศของเรามีหน่วยงานทางด้านดาราศาสตร์หลายหน่วยงาน มีหอดูดาวหลายแห่ง แต่บทบาทด้านการวิจัยและให้บริการประชาชน ยังมีอยู่อย่างจำกัด หน่วยงานเหล่านี้น่าจะจัดกิจกรรมเชิงรุกให้มากกว่านี้ มีผลงานของตนเองตีพิมพ์ต่อเนื่อง มีบุคลากรและผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจร่วมกันในระดับนานาชาติได้

หลังการเข้าร่วมโครงการ ผู้เขียนได้ส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานและกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และจัดทำสื่อการสอนออนไลน์ เพื่อใช้สอนวิชาโลก ดาราศาสตร์และอวกาศ [ซึ่งปัจจุบัน เนื้อหาดังกล่าวเผยแพร่อยู่ที่ www.astroeducation.com]

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน 2550) หน้าที่ 11 เขียนโดย ศักดิ์อนันต์   อนันตสุข สควค.รุ่น 6  ครู ร.ร.พนาสนวิทยา จ.สุรินทร์



Leave a Comment