การสอนการคิด เมื่อต้องสอนให้เด็กคิด ครูรู้คิดหรือยัง เทคนิคการสอนให้เด็กคิดเป็น

teaching-to-thinkทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง คนเราทุกคนย่อมหวาดกลัวและหวั่นวิตกต่อผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องไกลตัวก็ตาม กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาก็เช่นเดียวกัน  ทำให้ทั้งครูผู้สอนและบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องตื่นตัวและปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป

การสอนให้เด็กคิดเป็นนั้นจำเป็นหรือที่ครูจะต้องคิดแผนการจัดการเรียนรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมหรือสื่อการสอนใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้กับนักเรียน  ก่อนหน้านี้คำตอบที่ได้รับอาจจะมีคนตอบว่า ใช่มากกว่า 50 %  แต่จากการศึกษาในส่วนของทฤษฎีทางการด้านการคิด ความหมายของการคิดแล้วนั้นจะพบว่า การคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแค่เริ่มต้นว่าจะทำอะไร จะเขียนอะไรนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการคิดแล้ว

ในขั้นต้น สิ่งที่ครูควรจะทำก็คือ ปรับทัศนะคติของตนเองก่อน ลดความคาดหวังที่ว่า นักเรียนจะต้องทำได้เต็มร้อย หรือนักเรียนต้องตอบคำถามได้ถูกข้อ  หลังจากที่เราจัดกิจกรรมแบบนั้นแบบนี้แล้ว  ให้คิดใหม่ว่า  เมื่อนักเรียนเริ่มต้นที่จะคิด และสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ต่อไปลองนำแบบฝึกหัดเก่า ๆ ที่เคยให้นักเรียนทำ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน เรียงความ สิ่งประดิษฐ์ หรือข้อสอบที่เป็นอัตนัยที่นักเรียนต้องเขียนบรรยายทั้งหมดมาพิจารณา  เกณฑ์การให้คะแนน  เกณฑ์ที่เคยตั้งไว้เป็นอย่างไรบ้าง  เชื่อว่าคำตอบที่ได้รับนั้น จะต้องมีเกณฑ์ที่ว่า ตอบผิดได้กี่คะแนน ตอบถูกได้กี่คะแนน  หรือถ้านักเรียนทำได้เองทั้งหมดได้กี่คะแนน ถ้าครูต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมบ้างคะแนนจะลดลงเหลือเท่าใด  สิ่งเหล่านี้ควรมีอยู่ในเกณฑ์การให้คะแนนอยู่หรือไม่ คำแนะนำต่อไปก็คือ ไม่จำเป็นต้องตัดเกณฑ์เหล่านี้ทิ้งไปทั้งหมดแล้วเขียนใหม่  แต่ให้นำมาตัดต่อเป็นหนังเรื่องใหม่ที่สามารถนำมาฉายซ้ำได้เหมือนเดิม

การสอนให้เด็กคิด ครูยังสามารถใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนได้เหมือนเดิม วัดและประเมินผลจากผลงานเดิมที่เคยกำหนดไว้ได้  แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติมมา  คือ  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เช่น  เพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์  เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ของนักเรียน เมื่อเพิ่มผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สิ่งที่จะต้องเพิ่มตามมาก็คือ  การเพิ่มเกณฑ์ประเมินเกี่ยวกับกระบวนการคิด  เช่น  ถ้าพูดถึงจังหวัดตาก  นักเรียนคิดถึงอะไรบ้าง  ให้เขียนคำตอบมาให้มากที่สุด  ให้เวลา 2 นาที เพียงคำถามง่าย ๆ เท่านี้ เชื่อไหมว่า สามารถวัดความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนด้านการคิดคล่องได้แล้ว เพียงปรับเกณฑ์การให้คะแนนเป็นช่วง  เช่น

              ถ้าตอบได้ 1 – 5 ข้อ ได้  1  คะแนน

              ถ้าตอบได้ 6 – 10 ข้อได้  2  คะแนน

              ถ้าตอบได้มากกว่า 6 ข้อได้  3  คะแนน  เป็นต้น

คำถามเกิดขึ้นตามมาอีกว่า แล้วช่วงคะแนนที่เหมาะสมควรจะกำหนดอย่างไร  สิ่งนี้ต้องมีการทดลองกับนักเรียนกลุ่มเล็กก่อนนำไปใช้จริง  ต้องทดสอบกับนักเรียนที่เก่ง ปานกลาง และอ่อนว่า  ระดับความสามารถของนักเรียนทั้งสามกลุ่มแตกต่างกันแค่ไหน ทั้งนี้เมื่อนำไปทดลองใช้แล้วอาจจะได้ข้อสังเกตใหม่ ๆ เกิดขึ้นว่า  ถึงแม้นักเรียนคนนั้นจะเรียนอ่อนตอบคำถามได้น้อย  แต่อาจจะมีคำตอบที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับความคิดของคนอื่นอีกด้วย

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการสอนให้เด็กคิด  อย่าปิดกั้นความคิดของนักเรียนโดยเอาความคิดของครูเป็นที่ตั้ง  หากพบว่า  นักเรียนคิดไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายที่ครูต้องการ  นั่นเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องหาวิธีการใดมาปรับกระบวนการคิดของนักเรียนให้คิดตรงกัน

สรุปว่า การสอนให้นักเรียนคิดไม่ใช่เรื่องยาก  หากเป็นหน้าที่สำคัญของครูที่จะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อนำสิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป  

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 5 หน้าที่ 14 เขียนโดย ครูกาญจนา  ตุ่นคำแดง ครู คศ.1 โรงเรียนแม่ปะวิทยาคม จังหวัดตาก
ภาพประกอบจาก : http://searchfiletype.com/fsearch/2/2/7/4/Teachers%20Class%20 Teaching%20English%20lecture%20ppt_227407_lg.jpg



Leave a Comment