ครุวิจัยพลังงาน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมแนวนอน

พลังงานมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต  เป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  และมนุษย์มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ปัจจุบันทั่วโลกมีการนำพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทมาใช้  ซึ่งเป็นการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ (Alternative fuels) ไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล  พลังงานน้ำ  พลังงานลม  พลังน้ำหรือพลังงานแสงอาทิตย์  โดยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ  ขึ้นมารองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้  สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่าขณะนี้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก  ทั้งนี้ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนได้หลายประเภท  ประกอบกับภาครัฐได้กำหนดมาตรการเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น พลังงานจากลมซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อมใช้แล้วไม่มีวันหมด  ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง  ขณะเดียวกันกังหันลมก็เป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำพลังงานลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

turbine-windวัตถุประสงค์การวิจัย มีดังนี้
     1. สร้างกังหันลมแนวแกนนอนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
     2. ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมแนวแกนนอน  ได้แก่ ความเร็วลม (m/s)  ความเร็วรอบ (rpm)  ความต่างศักย์ (v)  กระแสไฟฟ้า  (I)  สัมประสิทธิ์กำลัง (Cp) อัตราส่วนความเร็วปลายใบ (tsr)  และกำลัง (P)
     3. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของกังหันลมแนวแกนนอนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

ผลการวิจัย พบว่า
1. การสร้างกังหันลมแนวแกนนอนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า  ได้กังหันลมแนวแกนนอนขนาดเล็ก  โดยกังหันลมประกอบขึ้นด้วยใบพัดจากท่อ พีวีซี  4  ใบพัด ตัวใบมีรูปร่างเป็นแพนอากาศ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.10  เมตร  พื้นที่หน้าตัด  0.95 ตารางเมตร  พันขดลวดทองแดงเบอร์  24  จำนวน  10  ขด ขดละ  250  รอบ โดยต่อแบบอนุกรม ใช้แม่เหล็กถาวร Neodymium magnets 10  ก้อน เรียงแม่เหล็กขั้วเดียวกันเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  20  เซนติเมตร กังหันลมสามารถทำงานได้ดีที่ความเร็วลมตามธรรมชาติ

2. การศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมแนวแกนนอน  พบว่า  กังหันลมหมุนที่ความเร็วลมตั้งแต่  1-10 m/s   ความเร็วรอบ (rpm) ของกังหันลมมากที่สุดเท่ากับ  1073.1  รอบต่อนาที  ที่ความเร็วลม  10 m/s   ความต่างศักย์ (v) มากที่สุดเท่ากับ   5.606  โวลต์  ที่ความเร็วลม  10 m/s  กระแสไฟฟ้า  (I)  มากที่สุดเท่ากับ  119.61  มิลลิแอมแปร์   ที่ความเร็วลม  10 m/s  สัมประสิทธิ์กำลัง (Cp)  มีค่าเท่ากับ  0.15    อัตราส่วนความเร็วปลายใบ (tsr)  เท่ากับ  6  และกำลัง (P)  มากที่สุดเท่ากับ  670.533  มิลลิวัตต์   ที่ความเร็วลม  10 m/s  

3. การศึกษาประสิทธิภาพของกังหันลมแนวแกนนอนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า  ได้ประสิทธิภาพ เท่ากับ  0.4  หรือ  40  เปอร์เซ็นต์  ซึ่งไฟฟ้าที่ได้ออกมาเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ

ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และการทำวิจัยครั้งต่อไป มีดังนี้
1. จากผลการวิจัยพบว่าได้ค่าความต่างศักย์  5.606  โวลต์  และกระแสไฟฟ้า  119.61  มิลลิแอมแปร์ แสดงว่ากังหันลมแนวแกนนอนขนาดเล็กสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ควรพัฒนาประสิทธิภาพกังหันลมแนวแกนนอนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น
2. จากผลการทดสอบกังหันลมแนวแกนนอนสามารถทำงานได้ดีที่สภาพลมตามธรรมชาติ  ครูผู้สอนควรลดขนาดของกังหันลมให้เล็กลงเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนในห้องปฏิบัติการ

งานวิจัยนี้ เป็นผลงานร่วมกันของข้าพเจ้า นายบุญนำ  หมีนยะลา(ร.ร.บ้านเขาน้อย จ.สงขลา) และนางสาวกษมล  ดอนแก้ว(ร.ร.เชียงแก้วพิทยาคม จ.อุบลราชธานี) ซึ่งจะได้นำผลวิจัยไปต่อยอด ขยายผลที่โรงเรียนของแต่ละคนต่อไป 

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 11 หน้าที่ 10 เขียนโดย ครูวิโรจน์   หลักมั่น ครุวิจัยพลังงาน สควค. รุ่น 5 (ขณะดำรงตำแหน่ง) ครู ร.ร.วังทองวิทยา จ.ลำปาง



Leave a Comment