ครู สควค. คู่แฝด แพรวและพลอย ครูแฝดคณิตศาสตร์ ครูผู้สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ [เรื่องกุ๊กกิ๊กของ ฝาแฝด]

เมื่อพูดถึง “ฝาแฝด” คนส่วนใหญ่มักคิดว่า คือ คนที่หน้าเหมือนกันหรือคล้ายกัน เพศเดียวกันและเกิดมาพร้อมกัน ซึ่งความพิเศษเหล่านี้ ทำให้คู่แฝดโดนเปรียบเทียบในเรื่องต่างๆ มาตลอด แล้วตัวคุณเองรู้บ้างไหมว่าฝาแฝด คืออะไร ? ชีวิตที่มีกันและกัน และการเรียนรู้อย่างพวกเขาเป็นอย่างไร ? แล้วถ้าหาก “ลูกคุณ” เกิดเป็นฝาแฝดขึ้นมาบ้างล่ะ อื้ม…น่าสนใจใช่มั้ย !!!

twins-dpst-teacherปานรวี ภูศรี (แพรว; คนซ้าย)-ปานปิติ ภูศรี(พลอย; คนขวา) เป็นครู สควค. คู่แฝด  เอกคณิตศาสตร์ รุ่นที่ 11 จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ปฏิบัติการสอนที่โรงเรียน นิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์(แพรว) และโรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก(พลอย) จังหวัดกาญจนบุรี ช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้พบพี่น้องในครอบครัวเดียวกันหลายครอบครัว เป็น ครู สควค. ซึ่งก็ถือว่า เป็นเรื่องที่พิเศษแล้ว แต่การมีโอกาสได้พบคู่แฝดแท้ ที่เป็นครู สควค. เป็นผู้หญิงและเรียนคณิตศาสตร์ จบด้วยเกรดสูง (แพรว 3.50 พลอย 3.06) เป็นเรื่องที่พิเศษที่สุด สควค.ฉบับนี้ จึงขอใช้ความเป็น “คู่แฝด” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และการศึกษา

ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ฝาแฝดนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ แฝดแท้และแฝดเทียม

1. แฝดแท้หรือแฝดร่วมไข่ เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่ 1 ใบ  เด็กจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน (แพรวกับพลอย เป็นแฝดแท้) ปกติแล้วไข่ 1 ใบ จะเกิดลูกได้ 1 คน แต่กรณีนี้ เซลล์ของเด็กจะแบ่งตัวเป็น 2 ส่วนตั้งแต่ 3-4 วันแรกที่มีการปฏิสนธิ  เนื่องจากมาจากเซลล์กำเนิดเดียวกันจึงมีลักษณะภายนอกเหมือนกันเหมือนการโคลนนิ่ง แต่ถ้าเกิดแบ่งตัวหลังจากเซลล์ต่างๆ เริ่มสร้างอวัยวะแล้ว การแยกจากกันจะไม่สมบูรณ์จึงเกิดการติดกันเป็นแฝดสยามหรือแฝดอิน-จัน เช่น หัวติดกัน ท้องติดกัน เป็นต้น

อิน-จัน เป็นแฝดที่มีส่วนหน้าอกติดกัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2354 ออกเดินทางจากสยามไปยังยุโรปกับพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น (พ.ศ.2372) แล้วเดินทางไปโชว์ตัวจนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในอเมริกา และได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน ใช้นามสกุลว่า “บังเกอร์” อินกับจัน ต่างก็มีภรรยา คือ แชลลี กับ อดีเลด  เยตส์ ทั้งสี่คนมีทายาทรวม 21 คน จันเสียชีวิตในวันที่ 17 มกราคม 2417 และอีก 2 ชั่วโมงต่อมา อินก็เสียชีวิต

2. แฝดเทียมหรือแฝดต่างไข่ เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่มากกว่า 1 ใบ เด็กจะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจเป็นคนละเพศกันก็ได้ เกิดจากแม่มีไข่ตกและมีความสมบูรณ์มากกว่า 1 ใบ ตัวอสุจิจะเข้าไปผสมตามจำนวนไข่ที่สมบูรณ์ (ไข่คนละใบ อสุจิคนละตัว) จึงเป็นฝาแฝดที่แยกกันตั้งแต่ตอนปฏิสนธิ

คู่แฝด เป็นเสมือนแรงจูงใจของกันและกัน  !! พลอยบอกว่า เธอใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดา ไม่ค่อยเครียดกับเรื่องต่างๆ เท่าไร ขณะที่แพรวยอมรับว่า เธอต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งเป็นเด็กแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนักจิตวิทยาที่บอกว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กมักจะเลียนแบบกัน ถ้าแฝดคนหนึ่งทำได้ อีกคนก็พยายามทำให้ได้เหมือนกัน จนกลายเป็นการแข่งขัน ซึ่งหากรุนแรงมากก็จะเป็นปัญหาหนึ่งในการเลี้ยงดูฝาแฝด แต่สำหรับเธอทั้งสองไม่เป็นเช่นนั้น

การยอมรับความต่างในความเหมือน ทำให้เป็นตัวของตัวเอง !! ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักให้ลูกแฝดทำและมีสิ่งต่างๆเหมือนกัน เช่น แต่งตัว ทานข้าว ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการขาดความมั่นใจของลูกในระยะยาว พ่อแม่จึงไม่ควรบังคับให้ทำอะไรเหมือนกันโดยไม่จำเป็น และควรยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น แฝดคนหนึ่งอาจมีนิสัยร่าเริง ยิ้มง่าย แต่อีกคนอาจเป็นคนนิ่งสุขุม เสือยิ้มยาก  ก็ได้ จึงควรสร้างให้เขามีจุดเด่นในตัวเอง มากกว่าใช้ความเป็นคู่แฝด เพื่อให้แต่ละคนได้มั่นใจในตนเอง 

แพรวกับพลอย ใช้ชีวิตใกล้ชิดกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา ก็อยู่ด้วยกันตลอด เธอยอมรับว่า มีความสนใจในการเรียนเหมือนกัน แต่ทักษะและความ สามารถพิเศษหลายอย่างมีความแตกต่างกัน การได้อยู่ด้วยกันตลอด จึงมีความผูกพัน เหมือนเป็นเพื่อนสนิท เมื่อต้องแยกกันก็คิดถึงกันเป็นปกติแต่ไม่ได้รู้สึกเหงา เพราะแต่ละคนก็มีความคิดที่อิสระ เป็นตัวของตัวเอง เธอบอกว่า แฝดบางคู่จะติดกันมาก จนขาดกันแทบจะไม่ได้

มาพิจารณาในแง่ของการเรียนรู้ นักจิตวิทยาได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และยอมรับว่า พฤติกรรมเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าง ร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีรากฐานมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม จึงจะพบว่า นิยมใช้การศึกษาทดลองจากฝาแฝดแท้ ทั้งนี้เพราะจะมียีน
ที่เหมือนกันทุกประการ เมื่อนำฝาแฝดแท้ไปเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน หากผลของพัฒนาการในด้านใดมีผลเหมือนกันนั่นแสดงว่าเป็นผลมาจากอิทธิพลของพันธุกรรม  แต่ถ้าหากว่ามีความแตกต่างกันในด้านใดแสดงว่าอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความแตกต่างนั้น ๆ

“ถ้าใครอยากท้องแฝดให้กินของที่มีลักษณะแฝด เช่น กล้วยแฝด หรือแต่งงานกับคนที่เป็นฝาแฝด” ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือ ? ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่า อัตราการเกิดแฝดแท้ค่อนข้างคงที่ทั่วโลกคือ ราวสี่ครั้งต่อการเกิด 1,000 ครั้ง ส่วนการเกิดแฝดเทียมนั้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม วัยของคุณแม่ น้ำหนักตัว ฮอร์โมน(คนอายุมากและคนมีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสมากกว่าคนทั่วไป) เชื้อชาติ (ชาวแอฟริกันสูงสุด คือ 45 ครั้ง ต่อการเกิด 1,000 ครั้ง)โภชนาการ สุขอนามัย(ถ้าสมบูรณ์ อัตราการเกิดแฝดสูงขึ้น) และเทคโนโลยีช่วยผู้มีบุตรยาก    

เลี้ยงลูกคนเดียวก็วุ่นพอแล้ว ถ้ามีลูกแฝดจะทำอย่างไร นี่คือ 10 ข้อแนะนำจากประสบการณ์การเลี้ยงลูกแฝดที่คุณพ่อและแม่ลูกแฝดต้องรู้

       1. การทำทุกอย่างตามเวลา คือ สิ่งที่จำเป็น และควรมีผู้ช่วยเลี้ยง(ย่าหรือยายหรือหญิงอื่น) นอกจากสามี
       2. คุณแม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าพร้อมกันได้ แต่ต้องจัดท่าทางให้เหมาะ และถ้านมไม่พอ ก็อาจใช้นมเสริม (ตามคำแนะนำของแพทย์) แต่ช่วง 6 เดือนแรก ลูกทุกคนควรได้กินนมแม่เหมือนกัน
       3. ทารกแฝดนอนในเปลวเดียวกันได้ บางทีอาจช่วยให้เขาหลับสบายกว่า เมื่อรู้ว่ามีอีกคนนอนอยู่ด้วย แต่เมื่ออีกคนไม่สบาย เป็นหวัดหรือมีไข้ โอกาสติดหวัดหรือไข้ก็ง่ายด้วย บางครั้งก็ต้องแยกกันสักพัก เพื่อความปลอดภัย
       4. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูคูณสอง จึงต้องสำรองเงินให้พร้อมและเพียงพอ
       5. ควรตั้งชื่อให้มีเสียงที่แตกต่างและแยกกันได้ชัดเจน เวลาเรียกให้เรียกชื่อตัวของแต่ละคน ไม่ควรเรียกรวม
       6. หลีกเลี่ยงการพูดเปรียบเทียบระหว่างเขาทั้งสองคนและควรหาโอกาสแยกเขาออกจากกันเป็นครั้งคราว เพื่อให้แต่ละคนมีสังคมของตัวเอง
       7. เมื่อแฝดโตขึ้น เราก็จะเลี้ยงดูเขาได้ง่ายขึ้น เพราะประมาณ 2 ขวบ เขาสามารถเล่นกันเองได้
       8. ไม่ควรแต่งตัวให้เหมือนกันตลอด โดยอาจทำได้ในช่วง 3 ปีแรกก็พอ
       9. การเลือกของเล่นควรหลากหลาย ไม่ควรซื้อชนิดเดียวกันสองชิ้น
       10. ให้เขาแต่ละคน รับรู้ถึงความพิเศษที่มีในตัวเอง โดยไม่ใช่ความพิเศษอันเนื่องมาจากความเป็นแฝด

ครู คือ ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ !!
แพรวและพลอย เล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่เธอเข้าโครงการ สควค. เพราะเธออยากเป็นครู อยากสอนให้ผู้อื่นมีความรู้ และที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ เพราะชอบการสอนของครูคณิตศาสตร์ ที่สามารถสอนให้เธอเข้าใจได้ดี เธอยอมรับว่า คณิตศาสตร์ เป็นวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่ายาก แต่หากครูมีความรู้ดี มีเทคนิควิธีสอนที่ดี ก็น่าจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างดี   ทั้งนี้เธอเป็นห่วงว่าปัจจุบันเด็กจะไม่ค่อยคิดบวก ลบ คูณ หาร เพราะมีเครื่องคิดเลขช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์การคิด คำนวณบกพร่องไปได้ และเธอตั้งใจแก้ปัญหานี้

นอกจากนี้ “ความเป็นคู่แฝด” ยังสามารถสร้างการเรียนรู้หรือจุดประกายความสนใจในเรื่องอื่นๆ ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ชีววิทยา การแพทย์ การโคลนนิ่ง จิตวิทยาการเรียนรู้และเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า “แพรวกับพลอย” จะอยู่ในความสนใจของพี่น้องและผองเพื่อน สควค. ทุกคน ในฐานะที่เป็น “ดาวคู่แฝด สควค.” อีกหนึ่งคู่แม่พิมพ์ สควค. ที่มีคุณภาพที่จะช่วยสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศไทยของเรา

ที่มา : วารสาร สควค. ฉบับที่ 12 หน้าที่ 12-13 เขียนโดย ศักดิ์อนันต์   อนันตสุข สควค.รุ่น 6 ครู ร.ร.นารายณ์คำผงวิทยา จ.สุรินทร์



Leave a Comment